สนช.ไฟเขียวกฏหมายล่านักการเมืองโกง

02 มิ.ย. 2560 | 08:25 น.
สนช.รับหลักการวาระแรก ก.ม.ล่านักการเมืองโกง “มีชัย”เผยเปิดช่องศาลฎีกาฯใช้ระบบไต่สวนคดี พร้อมสืบพยานลับหลังจำเลยป้องกันคดีสะดุด แม้ไม่ได้ตัวจำเลยมา หวังประจานสังคม

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ได้มีมติเอกฉันท์ 190  คะแนน รับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวาระแรก พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญจำนวน 19 คนพิจารณาภายใน 45 วัน

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการเสนอตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีหลักการใหม่ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การกำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาพิพากษาคดี หมายความว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเปิดทางให้ศาลทำหน้าที่แสวงหาความจริงที่นำไปสู่ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และไม่ให้เกิดการใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อหาช่องโหว่มาต่อสู้กันมากจนเกินไป

2.การให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลย เดิมที่ผ่านมาหากเกิดกรณีที่จำเลยหนีหลบหนีไม่ว่าก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดีในศาล ส่งผลให้กระบวนการไต่สวนทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น ร่างกฎหมายใหม่จึงกำหนดให้ศาลไต่สวนลับหลังได้เพื่อไม่ให้การพิจารณาคดีสะดุด

พรเพชร-696x470

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกส่วนใหญ่ได้อภิปรายสนับสนุนหลักการร่างกฎหมาย โดย นายสมชาย แสวงการ ระบุว่า ควรกำหนดกรอบเวลาการพิจารณาคดีทุจริตให้ชัดเจน เพื่อให้การพิจารณาคดีไม่เกิดความล่าช้า นอกจากนี้ ควรมีมาตรการติดตามเอาทรัพย์ที่กระทำความผิดมาเป็นของแผ่นดินด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง

นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด กล่าวว่า การกำหนดให้ศาลรับฟ้องหรือสืบพยานโดยไม่มีตัวจำเลยได้ตามที่กรธ.เสนอนั้น คิดว่าเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหา แต่ส่วนตัวคิดว่าอาจไม่เกิดประสิทธิผลตามที่ตั้งใจไว้ เพราะโดยทั่วไปแล้วหากจะทำให้การพิพากษานำไปสู่การยับยั้งไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้ตัวจำเลยมารับโทษ แต่การทำเช่นนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณผิดกับสังคมว่าไม่จำเป็นต้องติดตามตัวจำเลยก็ได้ จึงคิดว่าหากจะแก้ไขปัญหาการไม่ได้ตัวจำเลยมาฟ้องคดี ก็ควรดำเนินการทางกฎหมาย เช่น การไม่ให้นับอายุความระหว่างหลบหนี และใช้กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งคิดว่าจะได้ประสิทธิผลในการป้องกันอาชญากรรมและการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในเวลาเดียวกัน

นายมีชัย ชี้แจงว่า กรธ.ยอมรับว่าในทางปฏิบัติคงไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาการทำงานตายตัวให้กับศาลได้ เนื่องจากการทำงานของศาลไม่เหมือนกับกับการทำงานตามปกติ ทั้งนี้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปกำหนดเวลาให้กับศาล แต่อย่างน้อยที่สุดในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กรธ.ได้บัญญัติหลักการให้ศาลพิจารณาถึงความรวดเร็วในการทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม กรธ.อาจพิจารณาเรื่องการกำหนดกรอบเวลาการทำงานไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทน ส่วนการกำหนดให้ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้นั้น กรธ.คิดว่าอย่างน้อยสังคมจะได้รู้ว่าการกระทำของผู้ถูกกกล่าวหาผิดหรือถูกผ่านกระบวนการทางศาล นอกจากนี้ ถ้าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดจริง จะนำไปสู่การขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย