“ประยุทธ์”ยันตั้งคำถาม 4ข้อ หวังประชาชนรู้ทันการเมือง

02 มิ.ย. 2560 | 11:18 น.
“บิ๊กตู่”ยันตั้งคำถาม 4 ข้อต้องการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้  ป้องกันการถูกชักจูง  ด้าน“อนุพงษ์” ประชุมผู้ว่าทั่วประเทศ ยันให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนประกอบการตอบคำถามที่ศูนย์ดำรงธรรมแทนใช้สื่อจากโซเชียล  ป้องกันการสวมสิทธิและยืนยันตัวตน เตรียมส่งข้อมูลให้นายกฯทุก10 วัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  กล่าวในงานระหว่างให้โอวาทเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2560  เกี่ยวกับการตั้งคำถาม 4 ข้อเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า   ต้องการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ว่าจะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่าไม่ใช่เพื่อจะนำไปสู่อะไรทั้งสิ้น เพราะกฎหมายเขียนไว้อยู่แล้วว่าต้องมีการเลือกตั้ง แต่จะมีอย่างไรก็เรื่องของประชาชน  เพราะเป็นคนเลือกรัฐบาล ไม่ได้เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีเลย อย่างไรก็ตาม วันนี้คนไทยต้องสร้างหลักคิดที่ถูกต้อง ถ้าไม่สร้างจะถูกชักจูง จนทำอะไรไม่ได้  รัฐบาลก็ทำอะไรใหม่ๆไม่ได้ ถ้าทำเหมือนของเดิมก็ไม่เข้มแข็งไม่ยั่งยืนก็จะมีการทุจริต
“ผมไม่ปฏิเสธว่าอาจจะยังมีคนชั่วอยู่ ไอ้คนทุจริตคือคนชั่ว ต้องไม่มีอีก วันนี้ผมประกาศไปทุกที่ แต่ก็ยังมีเล็ดรอดอยู่ ซึ่งมีอยู่ 2 อย่างคือเรียกร้องเอง และสมยอมให้กับเขา มันต้องแก้ทั้งสองอัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกลัวใครทั้งสิ้น เพราะผมไม่เคยให้ใครไปเรียกใคร มีแต่ว่าช่วยเขา ให้เขา แต่อย่างว่าความจำเป็นคนไม่เท่ากัน”

[caption id="attachment_156687" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา[/caption]

ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมปรึกษาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ  เพื่อหาแนวทางปฎิบัติเพื่อรับฟังความเห็นประชาชน กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ตั้งโจทย์ 4 ข้อเกี่ยวกับกับการเลือกตั้ง โดยให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า เหตุผลที่ต้องรับฟังความเห็นผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม เนื่องจากเป็นภารกิจของศูนย์ดำรงธรรมอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางที่จะให้ประชาชนสามารถเดินทางมาแสดงความเห็นได้โดยสะดวก ซึ่งจะมีการเปิดศูนย์ดำรงธรรมให้มากที่สุด ทั้งที่เป็นศูนย์ดำรงธรรมในตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับล่างลงมา  รวมไปถึงศูนย์ดำรงธรรมของกรุงเทพมหานคร และศูนย์ฯของตำรวจด้วย  โดยประชาชนที่มาแสดงความเห็นจะต้องแสดงบัตรประชาชนแสดงกับเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้สิทธิแทนกัน   หลังจากนั้นกระทรวงมหาดไทยจะรวบรวมเสียงสะท้อนของประชาชนส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี 10วันต่อครั้ง

“ การใช้ช่องทางที่แน่นอนจะไม่ผิดเพี้ยนคือการให้ข้อมูลจากประชาชนที่เดินเข้ามาศูนย์ดำรงธรรมโดยตรงและจะกระจายการใช้ศูนย์ดำรงธรรมให้มากที่สุดทั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อำเภอ และตำบลเพื่อที่ประชาชนจะได้สะดวกในการเดินทาง และจะต้องยืนยันหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักเพื่อให้ข้อมูลที่เข้ามาไม่ผิดเพี้ยน ป้องกันพวกไม่หวังดีเพราะเจ้าตัวต้องรับผิดชอบอีกทั้งยังมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนคอยสอดส่องว่าใครเป็นใครเพื่อไม่ให้ข้อมูลผิดเพี้ยน  ”  มท.1 กล่าวและว่า

ส่วนการแสดงความเห็นผ่านโซเซียลมีเดียหรือส่งความเห็นทางไปรษณีย์หรือรับเรื่องผ่าน 1567 ก็อาจจะมีการสวมสิทธิกันได้ การรับฟังความคิดเห็นทางกระทรวงมหาดไทยเราจะไม่ไปชี้แนะอะไรทั้งสิ้นอีกทั้งยังมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนคอยสอดส่องว่าใครเป็นใครเพื่อไม่ให้ข้อมูลผิดเพี้ยน พร้อมยืนยันว่า การรับฟังความคิดเห็นทางกระทรวงมหาดไทยเราจะไม่ไปชี้แนะอะไรทั้งสิ้น

“เจตนาคือนายกรัฐมนตรี อยากทราบความคิดเห็นเท่านั้น ไม่ได้ทำโพลอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี อธิบายคืออยากให้ทุกคนตระหนักถึงการเลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งจะส่งผลถึงการใช้อำนาจรัฐที่จะทำให้ประเทศไทยไปในทิศทางไหนก็ได้เรื่องนี้ถ้ามองให้เกิดประโยชน์จะทำให้คนคิดเป็นในการเลือกตั้งและเลือกตั้งควรจะได้คนอย่างไร

ผมยืนยันว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นถ้าจะตีค่าว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองคงไปห้ามไม่ได้ เพราะเป็นคำถามที่ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง แต่เราไปบังคับให้ใครเขียนอะไรไม่ได้เขาจะตอบอะไรก็สรุปขึ้นมาอย่างนั้น ผมสั่งให้ศูนย์ดำรงธรรมทำข้อมูลไม่ได้แน่นอน สั่งได้เพียงว่าให้สรุปขึ้นมาในระยะเวลาเท่าไรและการดำเนินการไม่ได้เป็นการจัดตั้ง จึงให้ประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นด้วยตัวเอง พร้อมแสดงเลขบัตรประชาชนเพื่อให้ยืนยันตัวตน”