กกต.สวนกรธ.“พรบ.พรรค”ไม่ขัดเจตนารมณ์รธน.

19 มิ.ย. 2560 | 11:21 น.
กกต.ส่อเห็นแย้งกรธ. ชี้เนื้อหาร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ หมวดปฏิรูปมาตรา 258 ( 2) แต่ทำพรรคการเมืองมีปัญหาทางปฏิบัติ

กรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หารือเกี่ยวกับเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติประกอบ(พ.ร.ป)รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นไพรมารีโหวต ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ นั้น เบื้องต้นทางสำนักงานกกต. ได้พิจารณาอำนาจกกต.ในการที่จะมีความเห็นแย้งที่จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เมื่อมีการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวมาให้พิจารณา

โดยเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5  ให้อำนาจกกต. เห็นแย้งได้เฉพาะกรณีที่เห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเท่านั้น  ซึ่งเมื่อตรวจสอบเนื้อหาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับที่ผ่านสนช. แล้วก็พบว่า หากบังคับใช้จริงอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติกับพรรคการเมืองเป็นหลัก  และอาจมีปัญหาต่อการตรวจสอบ ควบคุมของกกต.อยู่บ้าง แต่เนื้อหาโดยรวมก็ไม่ได้เข้าข่ายไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ  ตรงกันข้ามกลับสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ที่ให้การดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผลดังนี้ ก. ด้านการเมือง (2)ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกผู้มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ดังนั้นประเด็นเบื้องต้นที่ทางสำนักงานกกต.จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาจึงเป็นกรณีที่หากร่างกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้จะเกิดปัญหาต่อการปฏิบัติของพรรคการเมือง  เช่น การตั้งพรรค พรรคเก่าเป็นพรรคอยู่ต่อไป แต่ต้องทำตาม ม.132 ไม่สิ้นสภาพจนกว่าจะพ้น 3 ปี ขณะที่การพรรคใหม่ต้องมีทุนประเดิม  1 ล้านบาททันที  และภายใน 1 ปีถ้าหาสมาชิกไม่ได้ 5,000 คน จัดตั้งสาขาพรรค 4 สาขาในแต่ละภาค ในทางปฏิบัติส่งผลให้การจัดตั้งพรรคใหม่เกิดยากเพราะมีความยุ่งยาก

การรับสมาชิก พรรคเก่ามีสมาชิกเท่าเดิม มีสิทธิเท่าเดิมแม้ไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง เว้นแต่ไม่ชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันตามมาตรา 27 อาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง แต่พรรคใหม่ สมาชิกใหม่ต้องเก็บค่าบำรุงทันที ซึ่งบทเฉพาะกาล มาตรา 136 กำหนดให้ปีแรกเก็บไม่น้อยกว่า  50 บาท  และปีต่อไปไม่น้อยกว่า  100 บาท ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดาภาวะปลา  ปลา 2 น้ำ พรรค 2 แบบ

การตั้งตัวแทนประจำจังหวัดทั้งพรรคเก่าพรรคใหม่ ต้องทำเท่ากัน แต่พรรคเก่าจะได้เปรียบเพราะมีสมาชิกในพื้นที่อยู่แล้ว  แต่บทบัญญัติก็มีลักษณะให้พรรคเร่งหาสมาชิกพรรคเพื่อตั้งสาขา และตัวแทนประจำจังหวัด  แต่เมื่อประชาชนยังไม่เกิดศรัทธาต่อพรรคก็อาจจะเกิดปัญหาการซื้อสมาชิกพรรคไปพร้อมกับการซื้อเสียงได้

องค์ประกอบ คณะกรรมการสรรหา พรรคเก่าต้องดำเนินการตามาตรา 49 วรรค 2 ทันที ซึ่งจะมีเพียงพรรคเก่าใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ ส่วนพรรคใหม่ ได้สิทธิใช้ มาตรา 135 ซึ่งพรรคใหม่ได้เปรียบพรรคเก่า เพราะคณะกรรมการสรรหา มีเพียง 11 คน เป็นกรรมการบริหารพรรค 4 คน อีก 7 คนให้หัวหน้าสาขากับตัวแทนประจำจังหวัดเลือกกันให้ได้ครบ 7 คน แต่ปัญหาคือพรรคใหม่ก็จะขาดองค์ประกอบในส่วนของตัวแทนประจำจังหวัด เพราะยังตั้งไม่ได้ เนื่องจาก กกต.ยังไม่ประกาศเขตเลือกตั้ง

การใช้ระบบไพรเมอรีโหวต ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกไม่มีปัญหา แต่ต่อมาหากมีการยุบสภาเร็ว เช่นใน 6 เดือน การใช้ระบบดังกล่าวในการคัดสรรผู้สมัครของพรรคอาจเกิดปัญหาได้  แต่หากรัฐบาลผ่านการบริหารงานไป 1-2 ปี แล้วยุบสภา พรรคการเมืองจะมีเวลาเตรียมการการใช้ระบบดังกล่าวไม่เกิดปัญหา

นอกจากนี้ในร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติเรื่องการให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหลังการประกาศใช้กฎหมาย เหมือนกับร่างพ.ร.ป.กกต. มาตรา 3 ที่ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกคำสั่งคสช.ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของกกต.ไว้  ดังนั้นแม้จะมีการบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวพรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

ประเด็นทั้งหมดหากที่ประชุมกกต.เห็นตามที่สำนักงานกกต.เสนอว่าเป็นเรื่องแนวทางการปฏิบัติของพรรคการเมือง ไม่ใช่การไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ในการหารือร่วมกับกรธ. หากเห็นต่าง ก็สามารถเสนอตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายได้อยู่แล้ว