รื้อกฎหมายที่ราชพัสดุเอื้อ‘พีพีพี’

01 ก.ค. 2560 | 13:32 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2560 | 20:32 น.
คลังสั่งธนารักษ์แก้กฎหมายที่ราชพัสดุปี 2518 เอื้อการลงทุนพีพีพี และเร่งขั้นตอนการประเมินราคาให้รวดเร็ว สะท้อนราคาตลาด พร้อมรองรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มั่นใจประเมินที่ดินรายแปลงเสร็จทันปีงบประมาณ 2560

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมธนารักษ์จะนำเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ต่อ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายในสัปดาห์นี้ ตามคำสั่งด่วนให้กรมธนารักษ์แก้กฎหมาย เพื่อรองรับร่างพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โดยการแก้กฎหมายจะแยกการลงทุนของพื้นที่ราชพัสดุออกจากพีพีพี

[caption id="attachment_162344" align="aligncenter" width="335"] นายพชร อนันตศิลป์ นายพชร อนันตศิลป์[/caption]

ประเด็นหลักที่แก้ไขคือ 1. การเช่าที่ราชพัสดุให้ดำเนินการตามกฤษฎีกา ที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ขณะเดียวกันจะย่อส่วนของร่างพ.ร.บ.พีพีพี บรรจุไว้ในกฎหมายลูกที่ออกโดยที่ราชพัสดุเพื่อประกบคู่กับร่างพ.ร.บ.พีพีพี
ประเด็นที่ 2 กำหนดให้เพิ่มคณะกรรมการประเมินราคา รวมทั้งองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ในการประเมินราคาที่ดิน ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อทำให้การประเมินราคาที่ดินรายแปลงทั่วประเทศมีความคล่องตัว

ทั้งนี้ที่ผ่านมาแนวปฏิบัติของกรมธนารักษ์ยังใช้ฐานอำนาจของกฎหมายที่ดินอยู่ ตั้งแต่การกำหนดราคา การสำรวจ คือ โดยรวมการทำงานของกรมธนารักษ์ต้องผ่านกระบวนการของกรมที่ดิน แม้ว่าข้อเท็จจริงได้มีการยกความรับผิดชอบมาไว้ที่กรมธนารักษ์แล้วตั้งแต่ปี 2547 ดังนั้นต้องกำหนดให้เพิ่มกรรมการประเมินราคา โดยมีประธานและเลขานุการเป็นคนของกรมธนารักษ์เพื่อให้งานเดินได้คล่องขึ้น

“เรื่องการเช่าที่ราชพัสดุ เดิมจะให้ออกเป็นกฎกระทรวง แต่เมื่อมีการหารือกันแล้วพบว่าถ้ามีปัญหาระหว่างดำเนินการจะต้องกลับไปในกระบวนการกฎหมายพีพีพี ฉะนั้นหากจะให้ขาดจะต้องร่างเป็นหนึ่งมาตราเพื่อใส่ในร่างพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ นอกจากนี้การประเมินราคาที่ราชพัสดุ ต้องผ่านกระบวนการของกรมที่ดิน ซึ่งล่าช้าทำให้การประเมินที่ดินรายแปลงไม่ราบรื่น”

อย่างไรก็ตามภายหลังจากแก้ไขพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุแล้ว ผลพวงเชิงบวกที่จะส่งผลต่อราคาประเมินที่ดินจะสะท้อนราคาความเป็นจริงและใกล้เคียงกับราคาตลาด ไม่ว่าจะเป็นที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าหรือแนวเขตเศรษฐกิจต่างๆ เพราะจากปกติราคาประเมินกำหนดไว้ไม่เกิน 4 ปีแต่สำหรับที่ดินที่มีความเคลื่อนไหวสูงจำเป็นต้องประเมินราคาเร็วกว่านั้น ประมาณปีละ 1 ครั้ง ส่วนพื้นที่เคลื่อนไหวน้อยก็จะประเมิน 2-5 ปีครั้ง

“การประเมินรายปีจะทำให้ราคาประเมินสะท้อนราคาตลาด ภาคธุรกิจจะชอบเพราะใช้เป็นหลักประกันการกู้เงินได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาครัฐสามารถอุดรูรั่วและมีรายได้ด้วย”

ส่วนความคืบหน้าการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศ เพื่อรองรับกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีการสำรวจแล้ว 15 ล้านแปลง คาดว่าจะครบ 32 ล้านแปลงภายในสิ้นปีงบประมาณ 2560 โดยพื้นที่ราชพัสดุ 95% เป็นพื้นที่ทหาร
นอกจากนี้ภายในเดือนกรกฎาคม กรมธนารักษ์ จะลงพื้นที่เพื่อจับอบรมเชิงปฏิบัติการ(เวิร์กช็อป) เจ้าหน้าที่ทั้ง 1.3 หมื่นคนเพื่อเตรียมพร้อมการคำนวณภาษีรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะออกมา

กรมธนารักษ์กำลังดูความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละจังหวัดเพื่อจะผลักดันให้เร็วขึ้น และกำลังเตรียมจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมให้อีอีซี อีกประมาณ 2,000-3,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ช่วงรอยต่อนครนายกกับปราจีนบุรี จากเดิมที่จัดสรรแล้วประมาณ 7,000 ไร่เศษ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560