บีโอไอไฟเขียวลงทุนปิโตรเคมีกว่า 2 หมื่นล้าน

28 มิ.ย. 2560 | 09:18 น.
บีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุน 2 โครงการใหญ่ ของพีทีทีจีซี ร่วมทุนกับญี่ปุ่น มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีชนิดพิเศษครั้งแรกในประเทศไทย หวังสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดวัตถุดิบจากปิโตรเคมีต้นน้ำในประเทศ และสร้างรายได้จากการส่งออกกว่า 8,000 ล้านบาท

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการของบีโอไอ ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการของบริษัทในเครือ พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทได้ร่วมทุนกับ บริษัทคูราเร จำกัด (Kuraray Co.,LTD) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชัน (Sumitomo Corporation) จำนวน 2 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เคมีชนิดพิเศษที่ยังไม่เคยมีการผลิตในประเทศไทยมาก่อน และจะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ มูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 2,800 ล้านบาท รวมถึงมีการส่งออกคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี

โครงการแรกเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ ประเภทยางเทอร์โมพลาสติกจากสไตรีน ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6 ต่อปี เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความยืดหยุ่น แต่แข็งแรง เหมาะในการนำไปขึ้นรูปชิ้นงานต่างๆ ขณะเดียวกันยังทนต่อสภาพอากาศและอุณหภูมิต่างๆ ได้ดีกว่ายางเทอร์โมพลาสติกจากสไตรีนที่ใช้กันทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยผ่านกระบวนการรีไซเคิล จึงเป็นที่นิยมนำไปใช้สำหรับผลิตอุปกรณ์กีฬากลางแจ้ง เช่น กระดานโต้คลื่น หรือชิ้นส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงชิ้นส่วนเครื่องใช้ในครัวเรือน 5.กลุ่มโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี สารอันตราย

โครงการที่สอง เป็นการผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษที่จะทำให้คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เคมีชนิดอื่น ดีขึ้น เช่น เมื่อนำไปผสมในหมึกพิมพ์ ทำให้มีคุณสมบัติทนความร้อน ทนน้ำ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การลงทุนของกลุ่มพีทีที โกลบอล เคมิคอล ครั้งนี้นับเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ความต้องการในตลาดโลกกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงนับเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในประเทศ” นางหิรัญญา กล่าว

นอกจากนี้ ทั้ง 2 โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่จะนำไปสู่การเดินหน้าตามนโยบาย ประเทศไทย 4.0 รวมถึงการลงทุนในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของภาคเอกชนต่อการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าพัฒนาและการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ยังนับเป็นโครงการนำร่องจะช่วยดึงดูดโครงการที่เกี่ยวเนื่องอื่นให้ตัดสินใจเข้าไปลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นในอนาคต