หวั่นสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกกระทบจราจรเสี่ยงรถติดทั่วกรุง

03 ก.ค. 2560 | 09:01 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2560 | 16:01 น.
 

เตือน!!ประชาชนเสี่ยงรถติดทั่วกรุง เหตุสร้างใต้ดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม เล็งปิดสะพานยกระดับรามคำแหงขาเข้านาน 45 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ย.เป็นต้นไป กระทบต่อบริเวณถนนรัชดา ถนนเทียมร่วมมิตร ถนนพระราม9 ยันถนนรามคำแหง ตำรวจเตรียมจัดรีเวสเลนแก้ปัญหา

or

 

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.) ได้เผยถึงผลการประชุมจัดการจราจรโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี(สุวินทวงศ์)ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ครั้งที่1 พร้อมด้วยกลุ่ม CKST JOINT VENTURE (บริษัทช.การช่าง จำกัด(มหาชน)และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)) ผู้รับเหมาการก่อสร้างสัญญาที่1และสัญญาที่2 ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อการก่อสร้างบริเวณถนนรัชดา ถนนเทียมร่วมมิตร ถนนพระราม9 และถนนรามคำแหง

โดยนายไพรัช พรหมอินทร์ ผู้จัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ตัวแทนจากบริษัทช.การช่าง จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวในสัญญาที่1และที่2นั้นเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าในรูปแบบใต้ดินตั้งบริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรมจนถึงสถานีบ้านม้า ซึ่งในการเปิดหน้าดินเพื่อทำการก่อสร้างผนังอุโมงค์นั้นจำเป็นต้องกระทบต่อพื้นผิวจราจรอย่างมากโดยเฉพาะบริเวณ สถานีรถไฟฟ้า4 สถานี ได้แก่ บริเวณเกาะกลางถนนหน้าเดอะมอลล์รามคำแหง เกาะกลางถนนหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง หน้าการกีฬาแห่งประเทศไทย ใต้สะพานยกระดับ และบริเวณหน้าโรงแรมอเล็กซานเดอร์

land

ส่งผลให้สะพานยกระดับรามคำแหงได้รับผลกระทบเนื่องจากทางลงสะพานด้านขาเข้ามุ่งหน้าถนนพระราม9 ตรงกับบริเวณสถานีเดอะมอลล์รามคำแหงพอดี ทางผู้รับเหมาจึงได้เสนอให้ตำรวจจราจรปิดทางลงดังกล่าวเพื่อทำการก่อสร้าง ซึ่งทางโครงการจะทำการลดทางเท้า เพื่อขยายช่องจราจรเพิ่มอีก1ช่องจราจร จากถนน4-5ช่องจราจร เพื่อลดผลกระทบ แต่จะไม่มีการปิดสะพานยกระดับอย่างแน่นอนแต่จะเป็นการปิดสะพานฝั่งเข้าเพียงฝั่งเดียวเท่านั้น โดยจะปิดเป็นระยะเวลา45เดือน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเปิดให้รถสามารถใช้สะพานฝั่งขาเข้าได้ตามปกติ

หลังจากนี้ทางผู้รับเหมาจะต้องทำการหารือแผนการปิดจราจร ซึ่งขณะนี้ทางที่ปรึกษากำลังรวบรวมข้อมูลจราจรบนถนนรามคำแหงเพื่อทำการวางแผน ซึ่งคาดว่าใช้เวลาศึกษา1เดือน อย่างไรก็ตามเดือนสิงหาคมนี้ทางผู้รับเหมาจะลงพื้นที่เพื่อรื้อย้ายสาธารณูปโภค และคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างบริเวณสะพานยกระดับรามคำแหงได้

or1

ด้านพล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวว่าสำหรับการปิดสะพานยกระดับฝั่งขาเข้ารามคำแหงในช่วงการก่อสร้างรถไฟฟ้านั้น  ทางตำรวจกำลังพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรเบื้องต้น โดยจะจัดให้เปิดช่องทางพิเศษหรือรีเวสเลนบนสะพานยกระดับฝั่งขาออกในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อทำการระบายรถลงสะพานยกระดับ ส่วนแผนการระบายรถนั้น ว่าจะปิดกี่ช่องจราจร วิ่งบนพื้นราบกี่ช่องจราจรนั้น จะต้องทำการประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนการปิดสะพานนั้นคาดว่าจะให้ปิดหลังจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไปเนื่องจากไม่อยากให้กระทบกับพระราชพิธีในเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีปัญหาจราจรเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ในวันที่10 กรกฎาคมนี้ ผู้รับเหมาสัญญาที่4 ช่วงแยกบ้านม้า-สุวินทวงศ์ จะทำการก่อสร้างเสาเข็มฐานราก เสาตอม่อทางวิ่งรถไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนนรามคำแหง จำนวน 2 จุด คือบริเวณซอยรามคำแหง 135 และ157 จึงมีความจำเป็นต้องปิดการจราจรถนนรามคำแหง ช่องขวาสุดชิดเกาะกลางฝั่งละ 1ช่องทาง ส่งผลให้เหลือช่องจราจรฝั่งละ 2 ช่องทาง จากทั้งหมดฝั่งละ 3 ช่องทาง ซึ่งบริเวณนั้นคาดว่าไม่มีผลกระทบกับจรจรมากหนักแต่ทางบช.น.ได้สั่งการให้สน.พื้นที่กวดขันจราจรพร้อมออกข้อบังคับห้ามจอดรถข้างทางตลอดเวลา เพื่อให้มีช่องจราจรให้รถใช้งานได้เพียงพอ อย่างไรก็ตามการก่อสร้างรถไฟฟ้าโครงการนี้ยอมรับว่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากการก่อสร้างอยู่บนถนนสายหลัก และเป็นสายที่ต่อเนื่องไปยังถนนภายในเขตกรุงเทพชั้นใน ตั้งแต่ถนนสุขุมวิท ถนนพระราม1 พระราม4 ซึ่งหากไม่มีการจัดจราจร อาจจะทำให้เกิดปัญหารถติดทั้งกรุงเทพฯได้

or2

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก(ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) งบประมาณ 79,221 ล้านบาท ระยะทาง23กม. เป็นรถไฟฟ้าชนิดHeavy Rail มีทั้งหมด17สถานี เป็นใต้ดิน10สถานี สถานีศูนย์วัฒนธรรม สถานีรฟม. สถานีวัดพระราม9 สถานีรามคำแหง12 สถานีม.รามคำแหง สถานีราชมังคลา สถานีหัวหมาก สถานีลำสาลี สถานีศรีบูรพา และสถานีบ้านม้า และมียกระดับ7สถานี ได้แก่ สถานีสัมมากร สถานีน้อมเกล้า สถานีราษฎร์พัฒนา สถานีวัดบำเพ็ญ สถานีเคหะราม สถานีมีนบุรี และสถานีสุวินทวงศ์

สำหรับแนวเส้นทางสายสีส้มตะวันออก เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จากนั้นวิ่งตามแนวถนนวัฒนธรรม ออกสู่ถนนพระราม 9 ที่บริเวณหน้าที่ทำการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ผ่านแยกพระราม 9 - ประดิษฐ์มนูธรรม แล้วเข้าสู่ถนนรามคำแหง บริเวณแยกรามคำแหง ผ่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง ราชมังคลากีฬาสถาน แยกลำสาลี ผ่านจุดตัดถนนศรีบูรพา จากนั้นจึงเริ่มยกระดับตามแนวเกาะกลางถนนเข้าสู่สถานีบ้านม้า ผ่านหมู่บ้านสัมมากร ยกข้ามทางแยกต่างระดับรามคำแหงจุดตัดถนนกาญจนภิเษก ผ่านแยกลาดบัวขาวจุดตัดถนนมีนพัฒนา ผ่านเคหะรามคำแหง ไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีมีนบุรี บริเวณก่อนถึงแยกรามคำแหง-ร่มเกล้าซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงสำหรับเส้นทางส่วนนี้ร่วมกับสายสีชมพู