บาท-ทรัมป์ 2 ปัจจัยเสี่ยงสุด

08 ก.ค. 2560 | 23:00 น.
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บรรยายพิเศษงานสัมมนา “ครึ่งปีส่งออกไทย...ฝันใหญ่ไปให้ถึง”ว่า ปัจจัยเสี่ยงมากสุดต่อการส่งออกไทยในครึ่งปีหลังทางศูนย์ฯให้น้ำหนักใน 2 เรื่องคือ 1.อัตราแลกเปลี่ยน และ 2.นโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นปัจจุบันค่าเงินบาทที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯถือว่าแข็งค่ามากที่สุดในอาเซียน และแข็งค่าเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากค่าเงินรูปีของอินเดีย และดอลลาร์ของออสเตรเลีย ดังนั้นสินค้าไทยที่แข่งขันกับสินค้าจากอาเซียนด้วยกันจะเสียเปรียบ

ส่วนกรณีมีคำสั่งบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์(Executive Oder)ให้ตรวจสอบการขาดดุลการค้ากับ 16 ประเทศซึ่งรวมทั้งไทย(ที่อยู่ในลำดับที่ 11) ภายใน 90 วัน(มีคำสั่งเมื่อ 31 มี.ค.60) เมื่อครบกำหนดแล้วให้มีมาตรการตอบโต้ทางการค้าต่อไปนั้น จากการวิเคราะห์อัตราส่วนการส่งออกต่อการนำเข้า(Export to Import Ratio : EXIM) ถ้า EXIM น้อยกว่า 1 หมายความว่าสหรัฐฯมีการส่งออกน้อยกว่านำเข้า ตีความว่าสหรัฐฯอาจจะเพ่งเล็งประเทศนั้น หรืออุตสาหกรรมนั้นมากขึ้น

[caption id="attachment_173985" align="aligncenter" width="503"] รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย[/caption]

ทั้งนี้จากผลวิเคราะห์ EXIM พบว่า จาก 16 ประเทศ ไทยอยู่อันดับที่ 6 ที่จะถูกสหรัฐฯเพ่งเล็ง รองจาก ไอร์แลนด์ เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และมาเลเซียตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมไทยที่จะถูกเพ่งเล็ง 3 อันดับแรกได้แก่ เครื่องจักร เครื่องกลคอมพิวเตอร์,ผลิตภัณฑ์ยางพารา,อัญมณีและเครื่องประดับ/รัตนชาติ/ไข่มุก ดังนั้นแนวทางการปรับตัวของไทย อาทิ ควรเตรียมพร้อมรับมือมาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษีจากสหรัฐฯ เร่งหาแนวทางจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ เร่งพัฒนาสินค้าให้ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจาก US FDA เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560