เอกชนเฮ! คสช.ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว 6 เดือน

04 ก.ค. 2560 | 11:14 น.
เอกชนเฮ! คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มีมติขยายเวลาบังใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวอีก6เดือน  ขั้นตอนจากนี้ไปภาคเอกชนขอมีส่วนร่วมพิจารณาเสนอแนะกฎหมายอนุบัญญัติ 39 ฉบับก่อนประกาศใช้ เพื่อให้การบังคับใช้พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ

ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เมื่อ 4 กรกฏาคม 2560  มีมติขยายกรอบเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ออกไปอีก 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ถึง 1 ม.ค. 2561 เพื่อให้แรงงานที่ทำผิดกฎหมายไปจดทะเบียน ดำเนินการด้านเอกสารให้ถูกต้อง ใน 4 มาตรา คือ มาตรา 101 ว่าด้วยการเอาผิดลูกจ้าง มาตรา 102 ว่าด้วยการเอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 122 ว่าด้วยการรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน และมาตรา 119 ว่าด้วยการทำงานโดยไม่มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบ

ต่อเรื่องนี้นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. กล่าวว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งล่าสุด คสช. มีมติขยายกรอบเวลาบังคับใช้ ออกไปอีก 180 วัน  มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ถึง 1 ม.ค. 2561 เพื่อให้แรงงานที่ทำผิดกฎหมายไปจดทะเบียน ดำเนินการด้านเอกสารให้ถูกต้องนั้น ถือเป็นเจตนาดีและเอกชนพอใจกับการขยายเวลา แต่ทั้งนี้ยัง ไม่สามารถประเมินได้ว่าระยะ เวลาเพียงพอกับการแก้ปัญหาหรือไม่ เนื่องจากต้องดูจำนวนแรงงานที่นายจ้างจะนำเข้ามาจดทะเบียนว่ามีมากน้อยแค่ไหน

"เอกชนเห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาแรงงาน และการค้ามนุษย์ที่ภาครัฐเร่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพราะจะทำให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบ และถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศดีขึ้น แต่ทั้งนี้อาจจะต้องปรับปรุงรายละเอียดบางอย่างในกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องต่อการทำงานจริงของแรงงาน

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐกำหนดบทลงโทษสูงสุด 4 แสนบาท หากมีการกระทำความผิดใช้แรงงานทาส หรือมีการค้ามนุษย์ แต่อยากให้รัฐปรับปรุงรายละเอียด หรือยกเลิกบทลงโทษ สำหรับการใช้แรงงานทำหน้าที่อื่น ที่ยังอยู่ในข่ายการทำงานที่ถูกกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหา และการทำงานไม่คล่องตัว แต่ยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มโทษปรับ อาจจะเป็นช่องว่างให้มีการรับสินบนได้ ดังนั้นรัฐจึงควรแยกประเภทโทษปรับให้ชัดเจนด้วย

เจน3

สอดคล้องกับที่นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ดูแลด้านแรงงาน เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า วันนี้(4ก.ค.60)ได้รายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.)รับทราบหลังจากที่มีการบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่ล่าสุดถือเป็นข่าวดีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มีมติขยายกรอบเวลาออกไปอีก ซึ่งจะทำให้การปรับตัวของนายจ้างและแรงงานต่างด้าวมีเวลามากขึ้น และลดความตื่นตระหนกของแรงงานที่จะไหลออกก็จะไม่ไหลออก ซึ่งปัจจุบันเรามีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยรวมประมาณ 3 ล้านคนเศษ  ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม(ไม่รวมภาคบริการ)มีจำนวน 5.5 ล้านคน ในจำนวนนี้น่าจะมีแรงงานต่างด้าวอยู่ราว8แสนคนถึง1ล้านคน ส่วนใหญ่70% เป็นแรงงานเมียนมา

สำหรับขั้นตอนนับจากนี้ไปภาคเอกชนในนามกกร.ขอมีส่วนร่วมในการพิจารณาเสนอแนะกฎหมายอนุบัญญัติ 39 ฉบับก่อนประกาศใช้ เพื่อให้การบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ