“....สายสีชมพูสามารถเชื่อมกับสายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียว(บีทีเอส) สายสีเทาและสายสีส้ม จึงจะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกกว่า....”
แม้ว่าล่าสุดกลุ่มบีทีเอสจะได้งานประมูลก่อสร้าง งานระบบและบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองป้อนรายได้ให้กับกลุ่มบีทีเอสระดับหลักหมื่นล้านบาทแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าแผนการรุกธุรกิจรถไฟฟ้ายังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ บีทีเอสกรุ๊ปยังคงเดินหน้าเตรียมความพร้อมแข่งประมูลรถไฟฟ้าสายอื่นๆอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการรุกในครั้งนี้ของกลุ่มบีทีเอสมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ทั้งด้านเงินทุนและปัจจัยอื่นจะได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นโดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนการรุกธุรกิจของบีทีเอสว่ายังเน้นด้านการเดินรถไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนเรื่องงานการก่อสร้างนั้นสามารถร่วมกับบริษัทต่างๆดังกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่ร่วมกับบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) เข้าร่วมประมูล
[caption id="attachment_174355" align="aligncenter" width="335"]
สุรพงษ์ เลาหะอัญญา[/caption]
**
มองรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย?
การรุกในส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้านั้นสายสีส้ม(ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ยังจัดว่าเป็นเส้นทางใหม่ เช่นเดียวกับสายสีเหลืองและชมพู ซึ่งกรณีที่มีผู้กล่าวว่าบีทีเอสได้เปรียบสายสีส้มนั้นยังมองว่าจะได้เปรียบตรงไหน เพราะต้องแข่งขันกัน เช่นเดียวกับส่วนที่ได้ประโยชน์จากส่วนการเชื่อมต่อต่างๆ แม้ว่าจะเชื่อมกับบางจุดของบีทีเอสที่พญาไทก็ตาม โดยเฉพาะสายสีส้มนับตั้งแต่ฝั่งธนบุรี ราชดำเนิน ประตูน้ำ พระราม 9 มีนบุรี โดยบีทีเอสเชื่อมสายสีส้มที่พญาไท-ราชเทวี ก่อนจะไปเชื่อมกับสายสีเหลืองที่แยกลำสาลีและสายสีชมพูที่มีนบุรี
“โอกาสที่จะป้อนผู้โดยสารให้บีทีเอสมีมากขึ้น ความสะดวกการใช้ตั๋วร่วมจะดีขึ้น ดังนั้นทุนต่างประเทศจึงคงจะเข้ามาแข่งขันได้ค่อนข้างยากยิ่งขึ้น เพราะบีทีเอสมีต้นทุนที่ถูกกว่าค่าใช้จ่ายหลายอย่างจึงสามารถร่วมแชร์ด้วยกันได้ เช่นเดียวกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(BEM) ที่บริหารรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ยังเห็นว่าการประมูลคงสูสีกันอยู่ ใครคิดต้นทุนได้แม่นกว่าจึงจะชนะซึ่งบีทีเอสสามารถแชร์ค่าใช้จ่ายบางอย่างร่วมกับสายสีเหลือง สีชมพูและสีเขียวจึงได้เปรียบกว่ารายอื่น อีกทั้งยังซื้ออุปกรณ์ได้ราคาต่ำกว่ารายอื่นได้ แต่ BEM น่าจะได้เปรียบเรื่องศูนย์ซ่อมได้เช่นกัน”
ประการสำคัญต้องอย่าลืมมองเรื่องรายได้ที่ใครจะคิดได้ชัดเจนกว่า เพราะหากมีตัวเลขชัดเจนก็สามารถที่จะยื่นข้อเสนอที่ดีให้กับภาครัฐได้ จึงดูได้เปรียบกว่ารายอื่น โดยเฉพาะสายสีส้มที่จะได้กลุ่มผู้โดยสารอีกหนึ่งโซนใหม่เข้ามาป้อนสู่ระบบรถไฟฟ้าหลังจากที่บีทีเอสเป็นเส้นทางหลักในอีกโซนหนึ่งของกรุงเทพฯมาแล้ว
เช่นเดียวกับสายสีชมพู เหลือง แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วยในการสร้างเส้นทางนี้ แต่บีทีเอสก็ได้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้โดยสารใช้บริการจำนวนน้อย อาจจะไม่คุ้มค่าเช่นเดียวกับสายสีม่วง โดยสายสีชมพูเมื่อเริ่มเปิดให้บริการคาดว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการราว 1 แสนคนต่อวัน จากที่ได้ประมวลข้อมูลแต่ละสถานีรองรับไว้แล้ว
**
ชี้โอกาสทางธุรกิจในจุดเชื่อมต่อ
โดยการเชื่อมต่อเข้าไปยังพื้นที่เมืองทองก็มีแผนใช้รถชัตเติ้ลบัสให้บริการ แต่เนื่องจากสภาพการจราจรติดขัดจึงมีแผนจะสร้างรถไฟฟ้าเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบกับการสร้างโมโนเรลจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งต้องประสานความร่วมมือต่อกันในการแก้ไขปัญหาจราจร อีกทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยยังเป็นเจ้าของโครงการทรัพย์สินจะยกให้รฟม.ทั้งหมดโดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป
ทั้งนี้จุดเชื่อมโยงของสายสีส้มกับบีทีเอสจุดแรกอยู่ที่พญาไท ส่วนจุดต่อไปคงเป็นสถานีมีนบุรีที่จะเชื่อมกับสายสีชมพู แต่หากบีทีเอสได้รับประมูลเดินรถสายสีเทาก็จะเชื่อมสายสีเทา เส้นทางวัชรพล-พระราม9 ได้อีก 1 จุดที่จะสามารถป้อนผู้โดยสารให้กับสายสีส้มได้อีกด้วย
“บีทีเอสมองว่าพื้นที่ศักยภาพของสายสีชมพูมีเยอะมาก อนาคตระยะยาวมีโอกาสเติบโตได้ มีที่ดินแปลงใหญ่สามารถเกิดการพัฒนาได้ ขณะนี้บีทีเอสยังไม่ได้จัดหาที่ดินไว้รองรับเส้นทางนี้แต่อย่างใด พื้นที่โซนริมถนนจะเป็นศูนย์การค้าแต่ลึกเข้าไปในตรอกซอยจะเป็นบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะโซนวัชรพลมีบ้านเรือนหนาแน่นที่จะใช้บริการสายสีชมพู ประการสำคัญสายสีชมพูสามารถเชื่อมกับสายสีม่วง สายสีแดง สายสีเขียวบีทีเอส สายสีเทาและสายสีส้มจึงจะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกกว่าสายสีม่วงที่น่าจะพัฒนาคอมเมอเชียลหรือออฟฟิศขึ้นในแนวเส้นทางถนนรัตนาธิเบศร์เพื่อสร้างจุดขายหรือดีมานด์ความต้องการเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้มีมากขึ้นตามไปด้วย”
ในส่วนสายสีเหลืองนั้นทุกวันนี้ล้วนทราบดีกว่าสภาพการจราจรถนนลาดพร้าวหนาแน่นมากเพียงใด สภาพบ้านเรือนในซอยจะพบว่ามีอาคารพาณิชย์ อพาร์ทเมนท์ บ้านเดี่ยว เกิดขึ้นจำนวนมากบีทีเอสจึงมั่นใจว่าจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจำนวนมาก บวกกับพื้นที่ในอนาคตมีศักยภาพในการพัฒนาโดยเฉพาะถนนศรีนครินทร์ที่ยังมีที่ดินแปลงใหญ่ไว้รองรับการพัฒนาอีกหลายแปลงที่จะเกิดการพัฒนาให้มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการรถไฟฟ้าตามมาได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,276 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2560