กระทรวงพลังงานหนุนสร้างชุมชนต้นแบบลดใช้พลังงาน

05 ก.ค. 2560 | 23:03 น.
กระทรวงพลังงาน เผยความสำเร็จการดำเนินโครงการแผนพลังงานชุมชนรอบ 10 ปี สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนจำนวน 1,676 แห่ง ก่อเกิดนวัตกรรม เทคโนโลยี สร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน 9,987 คน ต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงานกว่า 188 กลุ่ม

นายกณพงศ์ เทพากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาพลังงานชุมชน ผ่านโครงการแผนพลังงานชุมชน : Local Energy Planning (LEP) ตั้งแต่ปี 2549 -2560 ได้สร้างอาสาสมัครพลังงานชุมชน (อสพน.) จำนวนกว่า 6,042 คน โดย อสพน. คือประชาชนที่มีจิตอาสาทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อน และพัฒนาพลังงานไทย ด้วยแนวคิด รู้-รักษ์-ตระหนัก-สร้าง กระจายในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถสร้างทัศนคติ “พลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัว” เพิ่มศักยภาพ สร้างโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน รักษาสิ่งแวดล้อม

โดยอาสาสมัครพลังงานชุมชนจะมีบทบาทที่หลากหลายตามความถนัด ความสนใจและพัฒนาตนเองต่อยอดไปสู่นักวิจัยพลังงาน 380 คน ช่างเทคโนโลยีพลังงานชุมชน 172 คน นักสื่อสารพลังงาน 2,879 คน วิทยากร 514 คน

อีกทั้ง ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการได้สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน จำนวน 1,676 ชุมชน ก่อเกิดแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน 210 แห่ง เกิดอาชีพด้านพลังงานที่ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีพลังงานระดับชุมชนจำนวน 172 แห่ง สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงาน 56 สร้างโอกาสพัฒนาต่อยอดสู่วิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงานกว่า 188 กลุ่ม สามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้ 5 ล้านบาทต่อปี และลดจากการประหยัดพลังงานของบ้านตัวอย่างได้ 28 ล้านบาทต่อปี เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการได้กว่า 8 แสนบาทต่อปี 46436 สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานที่ครอบคลุมแผนพลังงาน 5 ด้าน คือ 1.พลังงานทดแทน 2.การอนุรักษ์พลังงาน 3.การพัฒนาบุคลากร 4.การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และ 5.บูรณาการกับมิติต่างๆ ในสังคม ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงพลังงานได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา แนะแนวทาง ให้ความรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมเรื่องพลังงานกับชุมชนเป็นจำนวนมาก พัฒนาอาชีพ รายได้ และศักยภาพความรู้เรื่องพลังงานให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ชุมชนระดับตำบลสามารถยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการพลังงานอย่างครบวงจร เกิดผลเชิงประจักษ์ ประชาชนมีความเข้าใจ และมีทักษะในการนำศักยภาพด้านพลังงานของชุมชนมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด