‘ไพรมารีโหวต’ส่อขัดรธน. ‘มีชัย’เห็นแย้งมติสนช. 5 ปม

10 ก.ค. 2560 | 02:18 น.
“ระบบการคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น” หรือที่เรียกกันติดปากเวลานี้ว่า “ไพรมารีโหวต” โดยหลักการต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือกตัวผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) แต่ส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญกระทั่งล่าสุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไดท้ ำหนงั สอืด่วนลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560ถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัยประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ… (ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง)

พร้อมแนบสำเนาความเห็นจากฝ่ายต่างๆ รวม 4 ฉบับ คือ สำเนาหนังสือพรรคชาติไทยพัฒนา ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2560 สำเนาหนังสือพรรคเพื่อไทย ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2560 สำเนาหนังสือเครือข่ายภาคประชาสังคมและวิชาการธรรมาภิบาลเพื่อชาติไทย ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2560 และสำเนาข่าวความเห็นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

สำหรับรายละเอียดหนังสือที่นายมีชัย ได้ทำถึงประธาน สนช.นั้น ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติให้ความเห็นชอบแล้วมาเพื่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 267 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความละเอียดทราบแล้วนั้น

[caption id="attachment_176136" align="aligncenter" width="503"] มีชัย ฤชุพันธุ์ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีชัย ฤชุพันธุ์ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)[/caption]

++กรธ.แย้ง5ปมไพรมารีโหวต
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้

1.การพิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาบทบัญญัติแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวประกอบกับบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองตามมาตรา 258 ก.(2) ของรัฐธรรมนูญอันแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่า

ประสงค์ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งกรอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต้องมุ่งหมายให้มีการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ “ทุกรูปแบบ”

2.เมื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ... ที่ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว กรธ.เห็นว่ากระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 50 และมาตรา 51 แห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังอาจมีกรณีที่ทำให้กระบวนการนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมขึ้นได้ เนื่องจากไม่มีมาตรการจัดการกับการทุจริตในชั้นการประชุมสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง

กรธ. เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวยังไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้มีการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ “ทุกรูปแบบ” และหากมีกรณีดังกล่าวเป็น“การดำเนินงานภายในของพรรคการเมือง” ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของสนช.ก็มิได้กำหนดบทลงโทษไว้ จึงไม่เป็นความผิด แต่หากจะถือว่าการเลือกดังกล่าว “เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเลือกตั้ง” เพื่อที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะใช้อำนาจดำเนินการกับผู้ทุจริตได้ กรณีก็จะมีปัญหาข้อกฎหมายขึ้นว่า กกต.มอบให้พรรคการเมืองดำเนินการแทนได้อย่างไร เพราะพรรคการเมืองเป็นผู้มีประโยชน์ได้เสียโดยตรงกับการเลือกตั้งนั้น

3.การที่มาตรา 51 (4) แห่งราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งลำดับที่ 1 ในบัญชีรายชื่อเท่านั้น เป็นบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อหัวหน้าพรรคการเมืองไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ทั้งที่เป็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง

กรธ. จึงเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

++สมาชิกเลือกผู้สมัครยุ่งยาก
4.กรณีมาตรา 35 ประกอบกับมาตรา 50 และมาตรา 51 กำหนดให้จังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง ต้องมีสมาชิกในทุกเขตเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เพื่อให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งนั้น ทำให้พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกในเขตเลือกตั้งไม่ถึงจำนวนดังกล่าวไม่ว่า เพราะเหตุใดไม่สามารถจัดให้สมาชิกเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งนั้นได้ และไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ ย่อมเป็นการตัดสิทธิพรรคการเมืองมิให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกระทบต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมายต่อการเลือกตั้ง แม้จะออกเสียงลงคะแนนไม่เลือกผู้ใด ก็มีความหมายต่อผลการเลือกตั้ง บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้การที่มาตรา 50 (5) และมาตรา 51 (5) กำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหรือแบบบัญชีรายชื่อใหม่ในกรณที่ที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองกับคณะกรรมการสรรหาไม่เห็นชอบด้วยกับผลการเลือกโดยไม่มีจุดสิ้นสุด อาจทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ภายในกำหนดเวลาที่รัฐธรรมนูญและ กกต.กำหนด ทำให้การเลือกตั้งอาจไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ทั้งยังเป็นช่องทางในการทำให้พรรคการเมืองคู่แข่งไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้อีกด้วยอันเป็นการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

++พรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็ก
5.นอกจากนี้ กรธ.ยังมีความเห็นด้วยว่า การที่มาตรา 138 แห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ หากพรรคการเมืองใดได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น ทำให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ได้เปรียบพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแต่เป็นพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก

รวมทั้งพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ภายหลังวันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เพราะมาตรา 47 แห่งร่างพระราชบัญญัตประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว กำหนดว่า พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้งนั้น

บทบัญญัติดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 27 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ เพราะกระบวนการในการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต้องใช้เวลาและความอุตสาหะในการดำเนินการซึ่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เองก็ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวในมาตรา 134 (5) และ (7) ที่ผ่อนเวลาให้พรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่ครบถ้วน ให้ดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับซึ่งในกรณีนี้ กรธ.ได้นำความเห็นของพรรคการเมืองต่างๆซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ดังรายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ

กล่าวโดยสรุป กรธ.เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ... ที่ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบแล้วบางประการไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560