บี้ไฮสปีดไทย-จีนราคาต้องเหมาะนำไทยเป็นฮับเชื่อมเมียนมา-เวียดนาม-สิงคโปร์

10 ก.ค. 2560 | 02:22 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2560 | 09:22 น.
อดีตผู้ว่าการร.ฟ.ท. นักวิชาการชี้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เทคโนโลยีจีนดีที่สุด ติงราคาต้องสมเหตุสมผล ไทยมีโอกาสเป็นฮับโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเส้นทางเมียนมา-เวียดนาม-สิงคโปร์ เป็นห่วงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่รัฐบาลไทยยังไม่มีแผนชัดเจน

นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา “รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน : ประโยชน์ร่วม ที่ต้องเร่งผลักดัน” ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ว่า รถไฟความเร็วสูงจะมีส่วนทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่จะเปลี่ยนไป ครอบครัวจะพัฒนาตาม วิธีการคิดจะเปลี่ยนไป การพัฒนาไม่ควรกระจุกอยู่แค่กรุงเทพฯ รัฐบาลต้องพิจารณาผลการศึกษาอย่างถ่องแท้ เพราะไฮสปีดเทรนจะเปลี่ยนโฉมเมือง ส่วนความคุ้มค่าอยู่ที่การทำให้เกิดได้จริง

[caption id="attachment_176851" align="aligncenter" width="503"] บี้ไฮสปีดไทย-จีนราคาต้องเหมาะนำไทยเป็นฮับเชื่อมเมียนมา-เวียดนาม-สิงคโปร์ บี้ไฮสปีดไทย-จีนราคาต้องเหมาะนำไทยเป็นฮับเชื่อมเมียนมา-เวียดนาม-สิงคโปร์[/caption]

“รถไฟไทย-จีนอาจมาช้ากว่าระบบอื่น แต่จีนดังกว่าและยังเป็นรายเดียวในโลกที่มีระยะทางไฮสปีดกว่า 1 หมื่นกิโลเมตร ดังนั้นหากเลือกญี่ปุ่นจะเชื่อมกับประเทศอื่นได้อย่างไรเพราะทุกรัฐบาลจะเชื่อมกับประเทศจีน” นายประภัสร์ กล่าวและยํ้าว่า การเลือกของรัฐบาลต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งจีนมีหลายมิติในการเชื่อมต่อ อย่างไรก็ตาม ราคาต้องไปพร้อมกัน ของดีราคาถูก ราคากับสิ่งที่ได้มาต้องสมเหตุสมผล สิ่งที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นไปตามผลการศึกษา

ด้านดร.พิษณุ เหรียญมหาสาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตทูตพาณิชย์ประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวว่าไทยยังมีจุดอ่อนด้านเทคโนโลยี แต่หากจีนให้ความช่วยเหลือ ไทยสามารถบริหารจัดการได้ ดังนั้นเบื้องต้นจึงชี้ชัดได้เลยว่าต้องเป็นรถไฟจากจีน เพราะหากพูดถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ไทยแนบแน่นมากที่สุด อีกทั้งจีนมีการพัฒนาอย่างชัดเจนกว่า ปัจจุบันจีนมีทางด่วนและรถไฟหลายเส้นทาง ล่าสุดมีรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก ใช้ความเร็วเกิน 300 กม./ชม.

“ที่น่าสนใจก็คือ ตามแผนจีนจะพัฒนาทางรถไฟในภูมิภาคนี้ 3 เส้นทาง มีเมียนมา เวียดนาม และสิงคโปร์ ทั้ง 3 เส้นทางมาบรรจบกันที่ประเทศไทย เท่ากับเราเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง ฉะนั้นประเทศเราควรจะทำเส้นทางรถไฟไปเชื่อมกับเส้นทางวันเบลต์ วันโรด ของจีน เพื่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจ อีอีซี-อ่าวไทย และอันดามันให้เกิดขึ้น”

เช่นเดียวกับดร.เกียรติอนันต์ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดี สายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงจะเป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจ แต่ยังกังวลเรื่องการถ่ายทอดเทค โนโลยี อีกทั้งปัจจุบันท่าทีของจีนจะละมุนละม่อมกับประเทศไทย แต่อย่ามองข้ามมิติเศรษฐกิจและการเมือง ในส่วนประเด็นประเทศไทยจะได้อะไรนั้นเห็นชัดว่าไทยจะสร้างโอกาสทางการตลาด ไทยมีจุดแข็งด้านความยืดหยุ่น จีนเก่งค้าขายอยากสนับสนุนรถไฟความเร็วสูงให้เป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจ พลิกโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560