ครม.ไฟเขียวโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาวงเงิน 1.79 แสนล้าน รัฐลงทุนทั้งหมด เตรียมส่ง สนช.รับทราบ
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร มูลค่า 1.79 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายลงทุน 100% โดยจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทราบต่อไป โดยให้ร.ฟ.ท.ดำเนินการพัฒนาโครงการรถไฟความ เร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นคร ราชสีมา) วงเงิน 179,413 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 4 ปี
[caption id="attachment_162197" align="aligncenter" width="503"]
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล[/caption]
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่าโครงการนี้ถือเป็นการปฏิรูประบบรถไฟครั้งสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหากไม่ดำเนินการโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสสำคัญที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่โครงข่ายการคมนาคมสายไหมของจีนที่เชื่อมโยงจากยุโรป-เอเชีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทางรถไฟระยะทางรวม 53,700 กิโลเมตร โดยขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 50% ซึ่งถ้าไทยไม่ก่อสร้างเส้นทางสายนี้ โอกาสที่ประเทศไทยจะเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายดังกล่าวก็จะหายไป จะทำให้ประเทศไทยตกขบวนได้ ทำให้เราไม่ได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นที่จะเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาทางเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา และในอนาคตจะต่อไปถึงขอนแก่น หนองคาย และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเปิดโอกาสทำการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้กับประชาชน และจะเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับอนุภูมิภาค ลุ่มนํ้าโขง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้
นายกอบศักดิ์ กล่าว เส้นทางนี้จะเชื่อมต่อไปถึงจีนเป็นระยะทาง 1,800 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางในประเทศไทย 647 กิโลเมตร เส้นทางใน สปป.ลาว 440 กิโลเมตร และเส้นทางในจีน 777 กิโลเมตร
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด โดยให้บริการครั้งแรกในปี 2564 จะมีรถ 6 ขบวน และในปี 2594 จะมีผู้โดยสารขั้นตํ่า 26,800 คน/วัน จะมีรถ 26 ขบวน วิ่งให้บริการทุก 35 นาที ค่าโดยสารเบื้องต้น 80+1.80 บาท/กิโลเมตร เช่น กรุงเทพ-สระบุรี จะคิด 278 บาท, กรุงเทพฯ-ปากช่อง 393 บาท, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 535 บาท โดยจะส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (EIRR) ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว 8.56% และหากคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยกว้าง ได้แก่ การพัฒนาเมืองบริเวณรอบสถานีจะทำให้ EIRR อยู่ที่ 11.68%
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,278 วันที่ 13 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2560