ประมงพื้นบ้านร้องก.เกษตรฯยกเลิกม.34 พ.ร.ก.ประมงปี 58

17 ก.ค. 2560 | 11:02 น.
“ปลัดเกษตรฯ” รับมอบหนังสือจากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ ขอให้ยกเว้นประมงพื้นบ้านไม่เป็นเรือไร้สัญชาติ - กำหนดขนาด/สัดส่วนสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามนำขึ้นเรือประมง พร้อมขอให้ยกเลิก ม. 34 ใน พรก.การประมง พ.ศ. 2558

วันนี้ (17 ก.ค.60) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหนังสือจาก นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เรื่อง ขอให้เร่งออกประกาศกระทรวงฯ กรณียกเว้นประมงพื้นบ้านไม่เป็นเรือไร้สัญชาติ และขอให้ประกาศกระทรวงฯ กำหนดขนาด/สัดส่วนสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามนำขึ้นเรือประมง พร้อมทั้งได้หารือร่วมกับตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน และผู้แทนจากกรมประมง ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

S__245456913 โดยการยื่นหนังสือดังกล่าวเนื่องจากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ เห็นว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2560 มีมาตรการห้ามเรือไร้สัญชาติทำการประมง ซึ่งมีผลกระทบต่อชุมชนประมงพื้นบ้านสัญชาติไทย ที่ใช้เรือไม่มีทะเบียน จึงขอให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งออกประกาศกำหนดขนาดเรือตามลักษณะการใช้ประกอบเครื่องยนต์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้าน

พร้อมกันนี้ ได้ขอให้มีการประกาศกระทรวงฯ กำหนดขนาด/สัดส่วนสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ไม่ควรทำการประมง และห้ามนำขึ้นเรือประมง โดยใช้ประกอบอัตราส่วนที่อาจถูกจับโดยบังเอิญ ซึ่งได้เสนอให้ประกาศ"ขนาดปลาทู" ขนาดต่ำกว่า 35 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ห้ามทำการประมงและจับได้โดยบังเอิญ ได้ไม่เกินอัตรา 10% ของน้ำหนักปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันมีการทำประมงที่มุ่งจับสัตว์น้ำขนาดเล็กมากเกินไป ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำขนาดเต็มวัย เช่น ลูกปลาทูขนาดเล็ก เป็นต้น

นอกจากนี้ สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ ได้ขอให้รัฐบาลเร่งรัดและแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 โดยให้ยกเลิกมาตรา 34 (ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทําการประมงพื้นบ้าน ทําการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง) พร้อมทั้งขอให้มีการพิจารณากำหนดขอบเขตในการทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมง ซึ่งได้มีการดำเนินการเพื่อให้เกิดการทำการประมงอย่างยั่งยืน โดยจะนำประเด็นข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาประมง ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 ณ กรมประมง ร่วมกับตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านทุกจังหวัดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการทำประมงพื้นบ้านในประเด็นต่างๆ ร่วมกันต่อไป