การสร้างธุรกิจ ‘โซลาร์ ดี’ มันคือความท้าทาย

22 ก.ค. 2560 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2560 | 21:27 น.
ในยุคที่สตาร์ตอัพกำลังเฟื่องฟู เราได้เห็นธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อยู่ได้บ้าง อยู่ไม่ได้บ้าง แล้วแต่ความสามารถในการสร้างและบริหารธุรกิจ ธุรกิจโซลาร์เซลล์หนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ และอยู่ได้มาจนถึงปีที่ 8 ของ “สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เขาคือผู้ให้บริการโซลูชันระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคาแบบครบวงจร (Solar Roof) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Simply Clean Energy นวัตกรรมพลังงานสะอาดเพื่อทุกคน”

[caption id="attachment_181376" align="aligncenter" width="335"] การสร้างธุรกิจ ‘โซลาร์ ดี’ มันคือความท้าทาย การสร้างธุรกิจ ‘โซลาร์ ดี’ มันคือความท้าทาย[/caption]

“สัมฤทธิ์” บอกว่า ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าธุรกิจของตัวเองเป็นสตาร์ตอัพหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งระบบแผงโซลาร์เซลล์ของเขา มีความเป็นธุรกิจเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่มีความเป็น Sharing Economy หรือธุรกิจเศรษฐกิจแบ่งปัน เช่นเดียวกับอูเบอร์ หรือ Airbnb

++ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น...?
นั่นเป็นเพราะโซลาร์เป็นพลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน ที่สามารถแบ่งปันกันได้ และบริการของ โซลาร์ ดี ก็ให้บริการทั้งกับโฮมยูส หรือผู้ใช้ตามบ้านทั่วไป และธุรกิจที่ต้องการติดตั้งระบบเพื่อใช้ในโรงงาน ซึ่งหากนโยบายภาครัฐเปิดกว้าง เราก็สามารถผลิตและเก็บพลังงานไว้ใช้ พร้อมแบ่งปันได้ในอนาคต แต่...นโยบายเมืองไทยยังไม่รองรับถึงขั้นนั้น

“สัมฤทธิ์” เล่าว่า การทำธุรกิจของเขา มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะนโยบายรัฐเกี่ยวกับค่าไฟ รวมไปถึงการบริหารจัดการไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่กับรัฐ และสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ไม่สามารถกำหนดได้ว่าควรผลิตพลังงานไฟฟ้าในช่วงไหนมาก ช่วงไหนน้อย โดยทั่วไป การผลิตจะได้ปริมาณมากในเวลากลางวัน ซึ่งเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ตรงนี้จึงทำให้เกิดการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาใช้

[caption id="attachment_181375" align="aligncenter" width="335"] สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์[/caption]

เมื่อธุรกิจมีปัจจัยใหญ่ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำไมเขาจึงยังสนใจเลือกทำธุรกิจนี้ “สัมฤทธิ์” หัวเราะแล้วบอกว่า มันคือความท้าทาย และอีกปัจจัยคือความชอบ (Passion) ด้านเทคโนโลยี และเขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากการทำโรงงานพลาสติก ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเยอะๆ แต่เมื่อราคานํ้ามันขึ้นเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว เขาได้รับผลกระทบมากมายทั้งจากราคาเม็ดพลาสติก และค่าไฟ ดังนั้น โซลาร์ จึงมีประเด็นสำคัญๆ กับสังคม เรื่องการจัดสรรทรัพยากร นอกเหนือไปจากเรื่องสิ่งแวดล้อม

จากความชอบและความรู้ด้านวิศวะที่รํ่าเรียนมา “สัมฤทธิ์” ศึกษาและคัดเลือกพาร์ตเนอร์ที่ดีมาร่วมธุรกิจ พร้อมนำเสนอความต่างที่โดดเด่นทางด้านดีไซน์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจสำหรับผู้ใช้บริการ เพราะ Solar Roof เป็นการติดตั้งแผงบนหลังคา หากดีไซน์ไม่ดีทำไม่สวยผู้ใช้บริการก็ไม่ตัดสินใจเลือก และการเลือกใช้แผงโซลาร์ของ แอลจี อีเล็คทรอนิคส์ มาช่วยเสริมทางด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือ

MP30-3280-5 นอกจากนี้ “สัมฤทธิ์” ยังเซอร์เวย์ตลาดศึกษาว่า ลูกค้ากลุ่มแรกๆ (Early Adopters) ของเขาคือใคร ซึ่งก็ได้คำตอบว่า เป็นกลุ่มคนหัวก้าวหน้า ที่เป็นผู้นำเทรนด์ เหมือนคนที่ซื้อรถก็ต้องซื้อรถไฮบริด รักสิ่งแวดล้อม ชอบการประหยัดพลังงาน...มันเป็นอารมณ์ที่ว้าวได้ และตรงนี้คือ สิ่งที่ทำให้เราต้องทำเรื่องดีไซน์ให้มันเจ๋ง และบริการที่ครบวงจร

“โซลาร์ ดี ตระเวนออกบูธ แนะนำตัวเอง และสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค เราจะวางระบบเป็นโซลูชัน เราไม่ได้ขายแผง เราขายเป็นระบบ ซึ่งมีแผงโซลาร์ มีระบบไฟฟ้า จากหลังคาลงมาเป็นไฟบ้าน จากไฟบ้านต้องเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า เราบริการให้หมด และเมื่อผลิตไฟแล้ว เราก็มีแอพพลิเคชัน ที่พัฒนาขึ้นเอง ที่นอกจากให้ข้อมูลแล้ว ยังถือเป็นคอมมิวนิตีของผู้ใช้โซลาร์ที่จะพูดคุยกันได้ ซึ่งอนาคตจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชันใหม่ๆ เข้ามาเสริม พร้อมกับแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้

MP30-3280-2 “สัมฤทธิ์” ยอมรับว่าธุรกิจของเขามีความเสี่ยง แต่มันก็มีความท้าทายและความสนุก ที่เขาพร้อมจะเรียนรู้และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และธุรกิจของเขาก็ทำกำไรมาตลอด เพราะการรู้จักหากลุ่มลูกค้ามารองรับและทดแทนกันได้ นั่นคือลูกค้ากลุ่มบ้าน (Resident) และกลุ่มธุรกิจ (Commercial)

“ธุรกิจนี้ เป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยขึ้นกับตัวเอง มีสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เยอะ ผมทำธุรกิจมา 2 อย่าง ธุรกิจอื่นมันแค่มีบางอย่างที่ควบคุมไม่ได้ แต่อันนี้มีหลายอย่าง เราก็ต้องหาวิธีที่จะอยู่กับมัน สนุกกับมัน”...และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจโซลาร์ ดี ยังเดินหน้า ทำรายได้มาแล้วกว่า 160 ล้านบาท และเตรียมตัวที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,280 วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560