‘โรงหนัง-ตึกสูง’ไร้มาตรฐาน สตง.จี้กทม.เร่งจัดการ

02 ส.ค. 2560 | 03:33 น.
สตง.ตรวจพบ โรงหนังกว่า 300 โรง หรือเกือบ 100% และอาคารอีกกว่า 2,000 แห่ง ระบบป้องกันอัคคีภัยไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นไปตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด

[caption id="attachment_186390" align="aligncenter" width="503"] พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.[/caption]

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ“ทีมข่าวเฉพาะกิจสปริงนิวส์” ว่า พบข้อมูลความปลอดภัยของอาคาร และโรงภาพยนตร์ที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีหน้าที่ดูแล ทาง สตง.ก็มีการติดตามและตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ผลปรากฏพบเอกสารรายงานว่า

ในส่วนของอาคารใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องถูกตรวจสอบสภาพอาคารจำนวนกว่า 7,600 แห่ง ในจำนวนนี้พบว่ามีกว่า 3,000 แห่งที่จะต้องถูกตรวจสอบสภาพเนื่องจากมีสภาพเก่าและใช้งานมาเป็นเวลานาน ซึ่งในจำนวนกว่า 3,000 แห่งนี้ปรากฎผลทำงานของทางกรุงเทพมหานครว่า สามารถดำเนินการตรวจสอบไปได้แล้วส่วนหนึ่ง แต่ยังคงเหลืออาคารที่ไม่ผ่านการตรวจสอบอีกกว่า 2,000 แห่ง หรือคิดเป็น 82% ของอาคารที่เข้าข่ายที่จะต้องถูกตรวจสอบ

“เหตุนี้ สตง.จึงต้องออกมาแจ้งเตือนไปยังสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ให้มีการเร่งรัดจัดการอาคารเหล่านั้นยื่นรายงานของการตรวจสอบสภาพให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้การเกิดปัญหาภัยพิบัติใดก็ตามแม้เกิดขึ้นกับเอกชนแต่สุดท้ายแล้วหนีไม่พ้นเรื่องของใช้เงินงบประมานแผ่นดินเข้าไปดูแล เช่น เอานํ้าไปดับเพลิงกู้ภัยขุดซาก ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทาง สตง.เฝ้าระวัง เพื่อความปลอดภัยในการใช้สอยของประชาชน”

ผู้ว่าการสตง. กล่าวว่า นอกจากนี้อีกกรณีเรื่อง “โรงภาพยนตร์” ที่เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ย่านปิ่นเกล้า ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีใครเสียชีวิต แต่ก็เห็นได้ชัดว่า กทม.ต้องใช้บุคลากร ใช้เครื่องมือ ใช้เวลาราชการที่จะไปป้องกันบรรเทาระงับภัย และต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเข้าไปดูแลเช่นกัน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงทำการลงพื้นที่สำรวจ

ปรากฏเป็นที่น่าตกใจ พบว่าอาคาร 44 แห่งที่มีโรงหนัง รวมกันแล้ว กว่า 330 โรง พบปัญหาโรงหนังส่วนใหญ่ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย และกฎหมายควบคุมอาคาร เช่น สัญญาณบานประตู หรือแม้กระทั่งทางหนีหรือป้ายบอกห้ามสูบบุหรี่โดยเฉพาะระบบป้องกันอัคคีภัย ที่ต้องมีการเตรียมสถานที่และระบบ ใน 6 ข้อหลัก เพื่อดูแลความปลอดภัยบรรดาคอหนัง หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน

ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร “ระบบความปลอดภัย” ที่โรงภาพยนตร์กำหนดให้ต้องมี ตามข้อมูลจากกองงานควบคุมโรงมหรสพ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย คือ 1.ทางเดินจากโรงสู่ทางหนีไฟ 2.ประตูหนีไฟ 3.ช่องทางหนีไฟ 4.ป้ายบอกทางหนีไฟ 5.ไฟส่องสว่างฉุกเฉิน และ 6.ระบบดับเพลิง

“อย่างนี้ สตง.จึงเห็นว่า กทม.ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ จึงควรเข้าไปดูแลกวดขันสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้มีการปรับแก้ให้โรงภาพยนตร์มีสภาพสมบูรณ์”

TP14-3283-A นายพิศิษฐ์ ยํ้าว่า สตง.มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณที่หน่วยงานให้บริการของรัฐใช้จ่ายว่าได้รับผลลัพธ์ที่ได้ประสิทธิภาพหรือไม่ รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบว่าบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสภาพแวดล้อม สิ่ง-แวดล้อมต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ว่าการ สตง. ยังให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่าเพราะเมื่อใช้จ่ายงบประมาณในด้านบุคลากรบรรจุแล้ว ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

++กทม.โอดเจ้าหน้าที่มีน้อย
นายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานคร ชี้แจงในเรื่องเดียวกันว่า เนื่องจากกำลังคนของข้าราชการมีจำนวนน้อย อีกทั้งการจะเป็นผู้ตรวจได้ เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ และผ่านการอบรมผ่านการสอบขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเมื่อขึ้นทะเบียนราษฎร์ขอใบประกอบวิชาชีพแล้วถึงจะสามารถตรวจสอบอาคาร 9 ประเภทได้ ทำให้การจตรวจสอบอาคารที่เป็นโรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งนั้นอาจล่าช้าบ้าง

[caption id="attachment_186388" align="aligncenter" width="424"] นพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานคร นพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานคร[/caption]

แต่สำนักการโยธาธิการ กรุงเทพมหานคร ยอมรับว่าที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากเจ้าของอาคารเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันอาคารที่ถูกตรวจสอบล่าสุด ขึ้นทะเบียนได้แล้ว กว่า 10,551 อาคาร ซึ่งขณะนี้ยื่นตรวจ และปรับปรุงแก้ไขแล้ว 80% อีก 20% อยู่ในระหว่างการจัดทำ แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการตรวจสอบ ทาง กทม.เองก็ไม่ได้เชื่อ 100% จึงดำเนินการสุ่มตรวจสอบทุกสัปดาห์

สำหรับอีก 20% ต้องให้ความเห็นใจเนื่องจากโรงภาพยนตร์มีการใช้งานทุกวัน ซึ่งการไม่ผ่านมาตรฐานก็ไม่ได้สะท้อนว่าไม่ปลอดภัย แต่เพียงบางส่วนต้องขอความร่วมมือให้ติดตั้งให้เข้มข้น อาทิ กลุ่มพวกอุปกรณ์ภายในที่ไม่ถูกต้อง เช่น ประตูหนีไฟยังแก้ไขไม่ถูก หรือชำรุดหรือเสียหาย ถังดับเพลิงที่หมดอายุ ระบบสปริงเกลอร์บางส่วนยังใช้งานไม่ได้ ซึ่งตรงนี้กรุงเทพมหานครเชื่อว่าจะได้รับการปรับแก้ไข เพราะ 20% นี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

“อย่างไรก็ตาม หากยื่นหนังสือไปแล้ว ยังพบว่ามีความละเว้น เพิกเฉยต่อการปรับปรุงแก้ไขให้โรงหนังและอาคารเป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร จะถูกปรับเป็นเงิน 60,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากยังเพิกเฉยซํ้าอีก กรุงเทพมหานครจะเข้าทำการระงับการใช้อาคารทันที”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560