‘คลัง-บังคับคดี’ยึดแนวบุญทรง แจงศาลอายัดทรัพย์‘ยิ่งลักษณ์’?

02 ส.ค. 2560 | 23:52 น.
หลังจาก “กรมบังคับคดี” ดำเนินการอายัดบัญชีเงินฝากของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 5 บัญชีจากทั้งหมด 16 บัญชี ตามคำสั่งทางปกครองฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีมีการแจ้งเตือนเรื่องความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 และปี 2556/2557 ซึ่งต้องชดใช้ความเสียหายจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 20% จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท กระทั่งล่าสุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ทุเลาการบังคับอายัดทรัพย์เป็นรอบที่ 2 และศาลมีคำสั่งให้ “กระทรวงการคลัง” ผู้ถูกฟ้องคดี และ “กรมบังคับคดี” ชี้แจงรายละเอียดต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

กรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์ที่ถูกเรียกค่าเสียหายจำนวน 1,770 ล้านบาท จากกรณีให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มาแล้วรวม 4 ครั้ง นับตั้งแต่ก่อนถูกอายัดทรัพย์ กระทั่งกรมบังคับคดีเริ่มยึดอายัดทรัพย์ โดยศาลปกครองกลางให้ยกคำร้องขอของนายบุญทรง ระบุเหตุผลว่า ยังไม่ปรากฏว่ามีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด จึงไม่มีเหตุทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง

ล่าสุดถูกอายัดบัญชีและทรัพย์สินตามที่เคยยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. โดยนายบุญทรงชี้แจงต่อศาลว่า ไม่ได้ประกอบอาชีพและไม่มีรายได้อื่น ส่วนเงินสด เงินฝาก นาฬิกาข้อมือทั้งของตัวเองและภริยาที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.ได้ถอนและนำทรัพย์เหล่านั้นออกจำหน่ายนำเงินมาใช้จ่ายจนหมดสิ้นแล้ว อีกทั้งยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเดือนละประมาณ 1 แสนบาท

ในการไต่สวนของศาลนั้น พบว่า กรมบังคับคดีใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยอายัดเฉพาะสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย สาขารัฐสภา บัญชีเลขที่ 089-1-03761 ซึ่งมีเงินอยู่เล็กน้อยเพียง 2,744.46 บาทเท่านั้น และไม่ปรากฏว่ายึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างอื่นของนายบุญทรง เพื่อขายทอดตลาด ซึ่งนายบุญทรง ก็อาศัยอยู่กับมารดาจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของนายบุญทรง

ทั้งยังไม่ปรากฏว่า นายบุญทรง ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกยึดหรืออายัดเพื่อขาย ทอดตลาด มีเพียงที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 662 ต.สมอโคต อ.บ้านตาก จ.ตาก ของภรรยาที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งอาจเป็นสินสมรส มูลค่าประมาณ 2.5 แสนบาท แต่ที่ดินดังกล่าวก็มีการจำนองต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว ในขณะที่เงินสด เงินฝาก นาฬิกาข้อมือ ที่แสดงทรัพย์สินไว้ต่อ ป.ป.ช.ก็มีการถอนเงินฝากและนำทรัพย์สินออกจำหน่ายเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหมดสิ้นแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่า หากศาลมีคำสั่งทุเลาการยึดอายัดทรัพย์ดังกล่าวไว้ก่อน จะทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายร้ายแรงแก่นายบุญทรง จนยากแก่การเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลัง

หากพิจารณาแนวทางที่ กรมบังคับคดี และกระทรวงการคลัง ชี้แจงคัดค้านการขอทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์ในกรณีนายบุญทรง กับพวก เมื่อมองมาที่กรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็น่าจะอ้างเหตุผลคัดค้านเช่นเดียวกับที่ใช้อ้างในกรณีของนายบุญทรงกับพวกว่า คำสั่งกระทรวงการคลังและการอายัดทรัพย์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว และหากมีการทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์ อาจทำให้เกิดการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจนไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนให้รัฐได้ เนื่องจากมูลค่าความเสียหายสูงมาก และหากศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย หน่วยงานรัฐก็สามารถเยียวยาได้ ไม่ได้ทำให้เกิดเหตุที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลังแต่อย่างใด

[caption id="attachment_188118" align="aligncenter" width="280"] ‘คลัง-บังคับคดี’ยึดแนวบุญทรง แจงศาลอายัดทรัพย์‘ยิ่งลักษณ์’? ‘คลัง-บังคับคดี’ยึดแนวบุญทรง แจงศาลอายัดทรัพย์‘ยิ่งลักษณ์’?[/caption]

**“ปู”แจ้งมีทรัพย์สิน610ล้าน
ส่วนข้อมูลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 (เฉพาะในส่วนของผู้ยื่นและบุตรไม่รวมของคู่สมรส) พบว่า มีทรัพย์สินรวม 612.38 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 33.07 ล้านบาท มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน จำนวน 579.30 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย

1.เงินสด 14,298,120 บาท 2.เงินลงทุนหลายแห่ง เช่น บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น, กองทุนเปิดแอสเซทพลัส ตราสารหนี้, กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ไทคอน รวมจำนวนเงิน 115,531,804 บาท 3.เงินให้กู้ยืม 108,301,369 บาท 4.ที่ดิน 18 แปลง กระจายอยู่หลายจังหวัด ได้แก่ อ.สันกำแพง อ.เมือง จ.เชียงใหม่, อ.พาน จ.เชียงราย, อ.บางเสาธง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ, เขตบึงกุ่ม และเขตบางขุนเทียน กทม. รวมราคา 117,186,350 บาท

5.บ้านที่นางสาวยิ่งลักษณ์ อาศัยซึ่งอยู่ที่แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม.ราคา 110 ล้านบาท, บ้าน 1 หลัง ในเขตบางขุนเทียน, ตึกแถว 3 ชั้นครึ่งที่ ต.ช้างคลาน จ.เชียงใหม่, ห้องชุดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และอ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ รวมราคาทั้งบ้าน ตึกแถว และห้องชุดเป็นเงิน 162,368,182 บาท 6.ยานพาหนะ รวมเป็นเงิน 21,990,000 บาท 7.สิทธิและสัมปทาน 569,189 บาท 8.ทรัพย์สินอื่น 45,690,000 บาท

**4 บัญชีเงินฝากเป็น“ศูนย์”
สุดท้าย คือ บัญชีเงินฝากในธนาคารต่างๆ แบ่งเป็น ธนาคารกรุงเทพ 7 บัญชี, กสิกรไทย 4 บัญชี, ยูโอบี 3 บัญชี, บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต 2 บัญชี รวม 24,908.420 บาท ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า มี 4 บัญชี ไม่ปรากฏตัวเงิน คือ บัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีย์ฯ เลขที่ 127-3-11127-6 และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขที่ 01-021238-6 ซึ่งไม่ได้อธิบายเหตุผลเอาไว้

ขณะที่ บัญชีธนาคาร กรุงเทพ จำกัด สาขาซอยอารีย์ฯ เลขที่ 127-4-20316-3 อธิบายในใบแทรกไว้ว่า มียอดเต็มตามบัญชีเงินฝาก 45,020,479 บาท เงินคงเหลือ 44,932,871 บาท และดอกเบี้ยค้างรับ 87,608 บาท โดยยอดเงินนี้ไม่มีส่วนเงินฝากของผู้ยื่น(นางสาวยิ่งลักษณ์) แต่เป็นเงินที่ครอบครองในส่วนที่เหลือจากการขายหุ้น SHIN (บมจ.ชินคอร์ปอเรชัน) ตามข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นดังกล่าว จำนวนที่ขายให้ผู้ยื่นไปแล้วอยู่ และผู้ยื่นเคยแจ้งข้อเท็จจริงในการครอบครองไว้ประมาณ 77 ล้านบาท

และ ณ ระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน 2555-6 พฤษภาคม 2558 ผู้ยื่นได้ยืมเงินฝากในบัญชีดังกล่าวในส่วนของพ.ต.ท.ทักษิณ ไปเป็นเงิน 33,070,803 บาท โดยส่วนเพิ่มเติมจากจำนวนเงินตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2557 ได้นำไปใช้จ่ายภายในครอบครัว ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อนุญาตให้ผู้ยื่นสามารถยืมเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวได้ทั้งหมด หรือบางส่วนโดยไม่มีดอกเบี้ย โดยผู้ยื่นได้ทำบันทึกรับสภาพหนี้ ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ไว้เพื่อเป็นหลักฐานเป็นหนี้สินของผู้ยื่น และเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยไว้ ผู้ยื่นจึงไม่ได้นำเงินที่เหลือจากการขายหุ้น SHIN จำนวน 45,020,479 บาท รวมเป็นทรัพย์สินเงินฝากของผู้ยื่น แต่แจ้งการครอบครองให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับทราบ อีกบัญชีเปิดกับธนาคารกรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ฯ เลขที่ 127-3-14661-1 ระบุเป็นบัญชีใหม่ ประเภทบัญชีกระแสรายวัน

**เส้นทางยึดทรัพย์‘ยิ่งลักษณ์’
นับตั้งแต่วันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก-รัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจตาม ม. 44 ออกคำสั่งที่ 56/2559 ให้อำนาจกระทรวงการคลัง เรียกความเสียหายทางแพ่งจากนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กระทั่งปลายเดือนกันยายน 2559 กระทรวงการคลังได้ตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว”

ต่อมาในเดือนตุลาคมได้เคาะตัวเลขความเสียหายที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้อยู่ที่ 35,717 ล้านบาท กระทรวงการคลังจึงออกหนังสือแจ้งให้นางสาวยิ่งลักษณ์รับทราบเพื่อให้ชดใช้เงินดังกล่าว ตามพ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และ พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 57 คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ผู้ใดชำระเงิน ถ้าถึงกำหนดแล้วไม่มีการชำระโดยครบถ้วนให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้นั้นและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วน วิธีการยึด การอายัดและการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม

เดือนธันวาคมปีเดียวกันนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งที่กระทรวงการคลังเรียกให้ชดใช้เงิน และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ตามคำสั่ง หรือระงับคำสั่งให้ชดใช้เงินจนกว่าจะมีคำพิพากษา ต้นเดือนเมษายน 2560 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่คุ้มครองชั่วคราวในการยึดทรัพย์ 35,717 ล้านบาท เนื่องจากศาลเห็นว่า ยังไม่เกิดความเสียหาย ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการสืบทรัพย์นางสาวยิ่งลักษณ์อย่างเป็นทางการ กระทั่งกรมบังคับคดีได้อายัด 16 บัญชีนางสาวยิ่งลักษณ์ นำมาสู่การยื่นขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวอีกครั้ง ล่าสุดศาลปกครองมีคำสั่งให้กระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดี และกรมบังคับคดีชี้แจงรายละเอียดต่อศาลภาย ใน 15 วัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560