ทำไมรัฐบาลลังเล ยึดทรัพย์"ยิ่งลักษณ์"

03 ส.ค. 2560 | 04:00 น.
คดี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในช่วงปี 2554-2555 จนเกิดความเสียหายกว่า 1.78 แสนล้านบาท และถูกคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ความเสียหาย 3.5 หมื่นล้านบาท ที่ดำเนินมากว่า 2 ปี กำลังมาถึงฉากจบ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ พร้อมกับคดีของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวกที่ถูกคำสั่งทางปกครองเช่นกันให้ชดใช้ความเสียหาย 2 หมื่นล้านบาท

MP25-3248-C ด้วยเงื่อนเวลาที่กระชับเข้ามาทุกที ประกอบกับ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯยกคำร้องของ อดีตนายกฯที่ขอให้ทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์ชดใช้ค่าเสียหาย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ฟืนไฟการเมืองที่ดูเหมือนมอดไปในช่วงที่ผ่านมาจึงคุขึ้นทันควัน ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแส เชิญชวนแฟนคลับ ยิ่งลักษณ์ มาให้กำลังใจ อดีตนายกฯ และจู่ๆก็มีกลุ่มบุคคลออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบและชะลอการขายข้าวเสื่อมออกมาแสดงตัว จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องออกมาปรามว่า ให้อยู่ในกฎหมาย

อย่างไรก็ดีท่ามกลางการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักจากฝ่ายการเมือง พร้อมกับการนับถอยหลังสู่วันพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ คดีรับจำนำข้าวนั้น สังคมมีข้อสงสัย และมีคำถาม กับกระบวนการยึดทรัพย์อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่น้อย ย้อนกลับไปเดือนตุลาคม 2559 อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ได้รับหนังสือคำสั่งทางปกครองจาก กระทรวงการคลัง ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้านบาท โทษฐาน เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ปล่อยปละละเลย จนรัฐเกิดความเสียหาย (บุญทรงกับพวกได้รับ หนังสือเดือนกันยายน 2559) แต่ผ่านไปกว่า 8 เดือน ไม่เพียง กระบวนการยึดทรัพย์เพิ่งขยับ เท่านั้น แต่แนวทางยึดทรัพย์ยังสับสนอีกต่างหาก

สัปดาห์ที่แล้ว มีการตอบโต้เล็กๆผ่านสื่อระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กับ อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ฝ่ายแรกออกมายืนยันว่า ยังไม่มีการยึดทรัพย์แต่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการ แต่ฝ่ายหลังทวีตโต้ว่า “ไม่ใช่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการนะคะแต่ได้ยึดและถอนเงินในบัญชีดิฉันไปแล้วคะ” ก่อนที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาชี้แจงว่า คดีแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ถ้าตัดสินว่าผิดจะนำไปสู่การดำเนินคดีทางแพ่งต่อไป ส่วนที่ 2 คือ คำสั่งทางปกครอง (อายุความ 10 ปี) “ถ้าพบต้องดำเนินการยึดทรัพย์เลยมิฉะนั้นจะถือว่าเจ้าหน้าที่บกพร่อง”

MP25-3248-B รองนายกฯวิษณุให้ข้อมูลด้วยว่าทรัพย์ของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่สอบพบแยกเป็น สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนแรกประกอบด้วยบัญชีธนาคาร 10-20 บัญชี และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วย บ้าน คอนโดมิเนียม และที่ดินรวม 37 รายการ โดยรองนายกฯ ปฏิเสธเปิดเผยข้อมูลแต่ยํ้าว่าทรัพย์ทั้งหมด ถูกอายัดไว้ก่อน ถูกฟรีซ (แช่แข็ง) เอาไว้ไม่ให้จำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดมาเป็นของหลวง แต่ได้หารือกันแล้วว่า “จะไม่ทำอะไรในช่วงนี้จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคมนี้”

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่าแม้แต่นายกรัฐมนตรียังสับสนระหว่างการยึดทรัพย์ตามคำสั่งปกครอง และการฟ้องร้องทางแพ่งหากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯตัดสินว่า อดีตนายกฯมีความผิด นั้นแตกต่างกัน ที่น่าสนใจคือครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่รองนายกฯวิษณุ ออกมายืนยันว่าหาก (ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งฯ) ตัดสินว่าผิดจะนำไปสู่การดำเนินคดีทางแพ่ง ซึ่งหมายถึงการเรียกค่าเสียหาย ซึ่งเท่ากับว่า อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ รวม ถึง บุญทรง อดีต รัฐมนตรีพาณิชย์กับพวกมีโอกาสถูกเรียกค่าเสียหายซํ้าสองใช่หรือไม่ ?

นอกจากนี้การที่ รัฐบาล เริ่มฟรีซ บัญชีธนาคารของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ก่อนประกาศชะลอออกไป จนกว่าจะมีคำพิพากษาออกมา ยังสะท้อนให้เห็นความลังเลของรัฐบาลที่มีต่อการอายัด หรือ ยึดทรัพย์ อดีตนายกฯ ทั้งที่ รองนายกฯวิษณุ บอกเองว่า ในส่วนคำสั่งทางปกครองมีอายุความ 10 ปี หากเจ้าหน้าที่พบต้องยึดมิฉะนั้นจะถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560