เปิดสรุปคำพิพากษาศาลฎีกาคดีสลายการชุมนุมพันธมิตร

02 ส.ค. 2560 | 06:38 น.
วันนี้ (2ส.ค.60) เวลา 9.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2558 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทย์ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่1 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ ที่2 พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่3 พลตำรวจโทสุชาติ เหมือนแก้ว ที่ 4 จำเลย

 

som1 คดีนี้โจทย์ฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 4 คน ประกอบด้วยจำเลยที่1 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำเลยที่2 ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี (ดูแลด้านความมั่นคง) จำเลยที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจำเลยที่ 4 ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันสลายการชุมนุมและไม่ดำเนินการระงับยับยั้งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,83

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลเริ่มไต่สวนพยานหลักฐานนัดแรกเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 โดยอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าไต่สวนทั้งหมดรวม 47 ปาก ซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ 15 ปาก ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ 32 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 21 นัด คดีเสร็จการไต่สวนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในเหตุการณ์ช่วงเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันสั่งการให้มีการเปิดทางเข้ารัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 176 บัญญัติไว้ การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาโดยปิดล้อมประตูเข้าออกไว้ทุกด้าน ถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และมิได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ(กรกฎ/48) โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้ว เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

som2

สำหรับเหตุการณ์ในช่วงบ่ายและค่ำ เหตุการณ์นี้โจทย์ร้องขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 3 และ ที่ 4 เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่2 ได้ลาออกจากตำแหน่งไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับมาปิดล้อมรัฐสภา เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และเจ้าหน้าที่รัฐสภาไม่สามารถออกมาจากรัฐสภาได้ มีการปลุกระดมผุ้ชุมนุมและจะบุกเข้ามาข้างในรัฐสภา จึงมิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ และเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปฎิบัติหน้าที่เพื่อเปิดทางช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ (แผนกรกฎ/48)แล้ว จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือดังกล่าว

ซึ่งพยานโจทย์และพยานจำเลยทั้งสี่ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแก๊สน้ำตา ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลอันเกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา แม้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นนั้น เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ เพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ

ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่อาจคาดเห็นได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้ และข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผุ้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลย ที่ 4 ไม่มีความผิดฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง