ทางออกนอกตำรา : ”EARTH” แบไต๋ “หนี้ที่มองไม่เห็น” โผล่พรวด

02 ส.ค. 2560 | 09:33 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2560 | 16:33 น.
1485341780111

ทางออกนอกตำรา
โดย...บากบั่น บุญเลิศ
”EARTH”แบไต๋ “หนี้ที่มองไม่เห็น”โผล่พรวด

ต้องบอกว่า เป๊ะเว่อร์! นสพ.ฐานเศรษฐกิจออกมาเปิดเผยว่า หนี้สินรวมของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH  เพิ่มขึ้นจาก 2.57 หมื่นล้านบาท มาเป็น 4.74 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้สร้างความตกตะลึงพรึงเพริศให้กับบรรดาเจ้าหนี้สถาบันการเงิน และผู้ถือหุ้นรายย่อยร่วม 7,000 ราย เป็นอย่างยิ่งว่า ทำไมในเวลาแค่ 3-4 เดือนหนี้สินของบริษัท EARTH ยักษ์ใหญ่ที่ซื้อขายถ่านหินที่ทุกคนบอกว่า มีอนาคต..จึงพอกพูนทวีมหึมา ประดุจมวลน้ำที่ไหลบ่าทะลักเมือง...

ฉบับที่แล้ว ผมตั้งข้อสังเกตในคอลัมน์นี้ในหัวข้อ “ชำแหละ EARTH งบหลอก-เจ้าหนี้ลวง?” หลังจากพิจารณางบดุล งบการเงิน งบรวมของ “เอิร์ธ”

P17-3262-a-696x385 พิบูล  พิหเคนทร์ กรรมการบริหาร ,ขจรพงศ์ คำดี ซีอีโอ, และ ธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์ เอ็มดี


ปรากฏว่า มีเสียงอื้ออึงออกมาจากปากเจ้าหนี้สถาบันการเงินอย่างน้อย 2-3 ราย  ไล่จาก ผยง ศรีวณิช กรรมกรรมการผู้จัดการใหญ่  ธนาคารกรุงไทย พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยว่า เฮ้ย...เป็นไปได้อย่างไร ที่หนี้สินจะเพิ่มขึ้นมามากขนาดนั้น...ข่าวลวงหรือเปล่า...

ขณะที่ทางคณะกรรมการ และผู้บริหารของ EARTH ส่งสัญญาณออกมาว่า ไม่จริง ไม่มีงบหลอก ไม่มีหนี้ลวง...

31 กรกฎาคม 2560 ธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ EARTH ออกมา ชี้แจงข้อมูลกรณียื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางว่า ขณะนี้บริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 31,828 ล้านบาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 47,480 ล้านบาท

70ac41de8744493267cebf9a0fa5d77d

เมื่อพิจารณาคำชี้แจงจาก ธนาวรรธน์ จะพบนัยระหว่างบรรทัดที่ชัดเจน ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้โปรดใช้สติในการพิจารณา... สาเหตุที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน เป็นผลมาจากการที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ หนี้หุ้นกู้ และหนี้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ส่งผลให้ถูกระงับการใช้วงเงินจากสถาบันการเงินทุกแห่งที่บริษัทใช้อยู่ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจของบริษัท ทำให้การประกอบธุรกิจของบริษัทชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ…

...คู่ค้าของบริษัทหลายรายได้เริ่มใช้บรรดาสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทเพิ่มมากขึ้น บริษัทได้รับหนังสือทวงถามหนี้จากเจ้าหนี้หลายราย หากบรรดาเจ้าหนี้และคู่ค้าทั้งหลายดำเนินการฟ้องร้องบริษัท จะทำให้บริษัทตกอยู่ในภาวะที่มีหนี้สินเพิ่มมากกว่าทรัพย์สิน….

1501332345201

ทั้งนี้ ก่อนที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางนั้น บริษัทได้รับแจ้งจากคู่ค้าว่า ได้ยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลที่มีเขตอำนาจเป็นยอดหนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 26,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป…

ดังนั้น จากเหตุการณ์ข้างต้น บริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 31,828 ล้านบาท มีหนี้สินทั้งสิ้นรวม 47,480 ล้านบาท หนี้สินจึงโผล่ขึ้นมามากกว่าทรัพย์สิน....

ธนาวรรธน์ จำแนกมูลหนี้ว่า มีทั้งหมด 6 กลุ่ม เป็นเงินกู้สถาบันการเงิน 11,032 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ 5,500 ล้าน บาท เป็นหนี้ตั๋วแลกเงิน (บี/อี) 2,395 ล้านบาท  เป็นเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น 938 ล้านบาท เป็นหนี้เงินกู้ยืมระยะสั้นจากบริษัทย่อย 1,205 ล้านบาท...นี่คือหนี้ที่เกิดขึ้นบันทึกอยู่ในงบการเงินที่ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ “มองเห็น”

ส่วน “หนี้ที่มองไม่เห็น” และโผล่ออกมา ซึ่งทางผู้บริหารเอิร์ธแจ้งว่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากเจ้าหนี้ คู่ค้าใช้สิทธิ์เรียกร้องนั้น  ธนาวรรธน์ ประมาณการว่ามีหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 26,000 ล้านบาท และมีหนี้สินอื่นๆอีก 408  ล้านบาท

20170503_EARTH

จะเห็นได้ว่า “หนี้ที่มองไม่เห็น” ซึ่งทางคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารเอิร์ธ แจ้งมีจำนวนมหึมาที่มากกว่า “หนี้ที่มองเห็น”ซึ่งกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หนี้หุ้นกู้ ตั๋วบี/อี หนี้ที่กู้ยืมจากบริษัทย่อยเข้าไปแล้ว

กล่าวคือ หนี้ที่มองเห็นและบันทึกในงบการเงิน งบดุล งบรวม มีทั้งสิ้น 21,070 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่มองไม่เห็นซึ่งทางเอิร์ธแจ้งว่า คู่ค้าฟ้องใช้สิทธิ์เรียกร้องสิริรวมทั้งสิ้น 26,000 ล้านบาท

เชื่อขนมกินได้เลยถ้าวัดตามสัดส่วนเช่นว่านี้ โหวตแผนฟื้นฟูกิจการตามกระบวนการของศาลล้มละลายพันครั้ง “หนี้ที่มองไม่เห็น” ชนะ “หนี้ที่มองเห็น” ขาดลอย 1000%

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า บรรดาเจ้าหนี้จะยอมให้หนี้ที่มองไม่เห็นโผล่ออกมาในชั้นการติดตามสืบเสาะของ จพท.และในชั้นการโหวตแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่เท่านั้นแหละพี่น้องเอ้ย ถ้าเจ้าหนี้ที่มองเห็นพ่าย รับประกันกรณีนี้จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ของการฟื้นฟูกิจการทันที เพราะกรณีนี้เท่ากับว่าฝั่งเจ้าของ คณะผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่สบายบรื่อ สะดือจุ่น....

อย่าลืมว่า กรณีของบริษัท EARTH นั้น มิได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดจนต้นทุนหาย กำไรหดมาหลายปีดีดัก ทำมาค้าขายไม่ขึ้น

หากแต่เกิดจากการที่ คณะกรรมการพี่น้องตระกูล “พิหเคนทร์”  อันประกอบด้วย  พิสุทธิ์ พิหเคนทร์ พิรุฬห์ พิหเคนทร์  พิพรรธ พิหเคนทร์  พิบูล พิหเคนทร์  และ ขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร มองเห็นช่องว่า EARTH เป็นกิจการที่มีอนาคต จึงพาเหรดกันแปลงหุ้นเป็น future ได้เงินออกมา แล้วเอาไปลงธุรกิจอย่างอื่น เช่น หนัง online โรงพยาบาล ตอนซื้อเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย ก็ซื้อเป็นหุ้น พออินโดนีเซียขายหุ้นออกมาไม่มีเงินรับหุ้น คุมหุ้นไม่อยู่

1501317164808

เมื่อเข้าตาจน ก็ต้องต้องขายหุ้น ยิ่งขายหุ้นก็ยิ่งลง ติดฟลอร์ไป 2 รอบ ในเวลาอันสั้น จนสะท้านไปทั้งกระดานหุ้น ผมไปค้นข้อมูลในตลาดหุ้นเบ็ดเสร็จแล้วกลุ่มตระกูล “คำดี” กับพี่น้องในตระกูล “พิหเคนทร์” สูยเสียหุ้นไปในราคาต่ำแสนต่ำประมาณ 450 ล้านหุ้น ร่วม 1,800-2,000 ล้านบาท

ในสถานการณ์เช่นนี้เป็นคุณจะทำอย่างไร ใจหนึ่งอยากได้หุ้นคืน ครั้นจะเพิ่มทุนขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (RO) ก็ไม่มีเงินพอ ครั้นจะเพิ่มทุนขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ราคาหุ้นก็ต่ำเตี้ยติดดินเหลือ 1.40 บาท อาจมีปัญหากับ กลต.เข้าให้ได้ อย่าเช่นนั้น เลยล้มกระดานซะเลยดีกว่า จากนั้นก็ขอมติดันเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ แล้วเอาเรื่องไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินมาเป็นข้ออ้างในการงัดข้อกับเจ้าหนี้ดีกว่า....มั้ย...ขอรับ

ผมถึงบอกว่าว่า ปัญหางบการเงิน การสำแดงหนี้สินที่เติบโตแบบพรวดพราดของบริษัท EARTH เป็นเรื่องใหญ่ในตลาดหุ้น ตลาดทุน และในระบบการเงินของไทย

1501317191045

ขอบอกไว้ที่นี่ ถ้าหากมีการปล่อยให้EARTH เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการความน่าเชื่อถือของงบดุล งบการเงิน ความน่าเชื่อถือของตลาดหุ้นเมืองไทย ความน่าเชื่อถือของผู้ตรวจสอบบัญชีชื่อดังท็อปโฟร์ เช่น PWC  จะดับสนิท เพราะในความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ที่ส่วนทุนของผู้ถือหุ้นที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท จะกลับมาติดลบได้ภายในระยะเวลา 2-3 เดือน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้บริษัทมีกำไร มีปันผลทุกปี แต่เพียง 3 เดือนต้องฟื้นฟูพิลึกกึกกือ มีกลิ่นทะแม่งๆ

เรื่องนี้จึงไม่เพียงแต่สะท้าน สะเทือนต่อตลาดหุ้นไทยเท่านั้น ที่ตลาดเยอรมันธนาคารใหญ่รายหนึ่งบอกว่า จับตาและติดตามเรื่องนี้กันแบบไม่กระพริบ เพราะหุ้น Earth มีการจดทะเบียนแบบ DUAL LISTED ที่ตลาดหุ้นเยอรมันด้วย

ฝนตกที่ตลาดหุ้นไทย เปียกปอนท่วมไปถึงเยอรมันโน่นพี่น้อง…..
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หน้า 6 หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3284 ระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค.2560

E-BOOK แดง