สนช.หนุนร่างพรป.พรรคการเมืองเพิ่มโทษไพรมารีโหวต แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรค

03 ส.ค. 2560 | 11:54 น.
สนช. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองอีกครั้ง ตามร่างที่ กมธ.วิสามัญร่วม 3 ฝ่ายเสนอ เพิ่มโทษไพรมารีโหวต แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรค พร้อมปลดล็อคให้หัวหน้าพรรค ลงสมัคร ส.ส. ได้ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 205 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งเป็นคะแนนเสียงไม่เห็นชอบไม่ถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก สนช. 249 คน (หรือไม่เกิน 167 เสียง) จึงถือว่า ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (กรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย) เสนอ หลังจากนี้จะส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตาม มาตรา 81 รัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป

สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง นั้น ได้ผ่านวาระ 3 จาก สนช. ไปแล้ว แต่เนื่องจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้ส่งข้อโต้แย้งเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว มายัง สนช. จึงทำให้ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย( สนช. กกต. กรธ.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง         สาระสำคัญของข้อโต้แย้ง มี 4 ประเด็นหลักคือ 1.การเลือกข้างต้นภายในพรรคเพื่อคัดสรรส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยระบบไพรมารีโหวต ยังไม่มีมาตรการจัดการหากเกิดการทุจริต 2. การกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งลำดับ 1 ในระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสิทธิการลงเลือกตั้งแบบแบ่งเขตของหัวหน้าพรรคการเมือง เป็นการตัดสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานของคนที่เป็นหัวหน้าพรรค

rat

3.การกำหนดให้จังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง ต้องมีสมาชิกในทุกเขตเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เพื่อให้สมาชิกได้มีส่วนร่วม จะส่งผลให้พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกในเขตเลือกตั้งไม่ถึงจำนวนดังกล่าวไม่ว่าเพราะเหตุใด ไม่สามารถจัดให้สมาชิกเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ ย่อมเป็นการตัดสิทธิพรรคการเมืองไม่ให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกระทบต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมายต่อการเลือกตั้ง

และ4. การกำหนดให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่กฎหมายลูกนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งหากพรรคการเมืองจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตในจังหวัดนั้น ทำให้พรรคใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่าได้เปรียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก

กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. ในวันนี้(3 ส.ค. 60 ) ว่า จากการพิจารณาประกอบข้อโต้แย้งดังกล่าว กรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย มีมติเห็นควรปรับแก้ใน 2 ประเด็น ได้แก่ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองสามารถลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ได้ ทั้งแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และแบบแบ่งเขต ตามที่ กรธ.เสนอ จากเดิมที่กำหนดให้หัวหน้าพรรคลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อได้อย่างเดียวเท่านั้น ขณะเดียวกันให้มีบทลงโทษกรณีทุจริตไพรมารีโหวตเพิ่มเข้ามา โดยให้แบ่งโทษเป็น 4 ระดับ โทษสูงสุดถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรค มุ่งเน้นลงโทษหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง แต่หากพบว่าผู้สมัครมีความผิดด้วย ก็จะมีความผิดตามมาตรา 51/3

ขณะที่การทำไพรมารีโหวตถือเป็นเรื่องภายในพรรคการเมือง หากพบว่ามีการกระทำความผิด ต้องให้ผู้ร้องยื่นเรื่องไปยัง กกต. และต้องมีการสืบสวนสอบสวนเช่นเดียวกับกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ส่วนข้อโต้แย้งอีก 2 ประเด็น ที่เกี่ยวกับขั้นตอนในระบบไพรมารีโหวต คือ เรื่องกระบวนการจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่ กรธ.มองว่า พรรคเล็กจะเสียเปรียบพรรคใหญ่ และเรื่องระบบไพรมารีโหวตที่อาจมีผลกระทบต่อระยะเวลาการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งกรณีที่บางเขตต้องจัดการเลือกตั้งใหม่นั้น กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เห็นว่าไม่ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จึงไม่ปรับแก้ไขใน 2 ประเด็นนี้