15 คดีดังศาลฎีกานักการเมือง 3 รมต.นอนคุก-เผ่นหนี 3

10 ส.ค. 2560 | 03:30 น.
นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” (ศาลฎีกานักการเมือง) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 จนถึงปัจจุบันเกือบ 17 ปี มีคำพิพากษาไปแล้วหลายสิบคดี เฉพาะคดีดังเป็นที่จดจำของสังคม มี “นักการเมือง” ระดับชาติตกเป็นจำเลยหลายราย

++คุก-ยึดทรัพย์“รักเกียรติ”
โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาให้ยึดทรัพย์ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 233.88 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดินฐานรํ่ารวยผิดปกติ

1 เดือนถัดมา ศาลมีคำพิพากษาจำคุก นายรักเกียรติ เป็นเวลา 15 ปี กรณีรับสินบน 5 ล้านบาทจากบริษัทยาทำให้สาธารณสุขจังหวัดจัดซื้อยาในราคาแพงในคดีทุจริตยาในกระทรวงสาธารณสุข ผลจากคดีนี้ทำให้ชื่อของ “รักเกียรติ” ขึ้นแท่นเป็นรัฐมนตรีรายแรกของไทยที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้จำคุกจากการทุจริตคอร์รัปชัน

จากนั้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2551 ศาลมีคำพิพากษาใน “คดีทุจริตโครงการบ่อบำบัดนํ้าเสียคลองด่าน” สั่งให้จำคุก นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ณ ขณะนั้น เป็นเวลา 10 ปี และริบพระเครื่องผงสุพรรณเลี่ยมทอง 1 องค์ ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขู่ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่สงวนหวงห้ามเพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษก่อสร้างโครงการ ปัจจุบันนายวัฒนาติดอันดับรายชื่อนักการเมืองที่หลบหนีคดีของศาลฎีกาฯ

++“ทักษิณ”หนีคุกคดีที่ดิน
และที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เมื่อศาลพิพากษา “คดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก” หรือ “คดีที่ดินรัชดา” ที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ณ ขณะนั้น) ไปประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส ส่งผลให้เป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญาซื้อที่ดินโฉนดแปลงดังกล่าว เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมซึ่งศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ให้จำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

++“ทักษิณ-ประชา-วัฒนา”หนี
สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังมีอีกหลายคดี โดยในวันที่ 30 กันยายน 2552 “คดีหวยบนดิน” ปรากฏชื่อเป็นจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกอีก 47 คน ซึ่งศาลได้จำหน่ายคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้ชั่วคราว ส่วน นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
ส่วน “คดีปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าให้กับรัฐบาลพม่า 4 พันล้านบาท” หรือ “คดีเอ็กซิมแบงก์”, “คดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต” และ“คดีกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดา” เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีคดี ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ และจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะจับตัวมาดำเนินคดีได้

ในปี 2553 ศาลได้มีคำพิพากษาให้ ยึดทรัพย์อดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ กว่า 46,000 ล้านบาท พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และได้ใช้อำนาจหน้าที่ออกมาตรการต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปอเรชันฯ และบริษัทในเครือหลายกรณี ส่งผลให้หุ้นของบริษัทมีราคาสูงขึ้น ก่อนขายให้กับบริษัท เทมาเสก ในประเทศสิงคโปร์

“คดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิง” ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. แต่พิพากษาให้จำคุก 12 ปี นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.เป็นเวลา 10 ปี

จากคดีนี้ชื่อของ “ประชา มาลีนนท์” ขึ้นแท่นติดอันดับนักการเมืองหลบหนีคดีอีกราย ต่อจากนายรักเกียรติ ที่หลบหนีคดี ภายหลังถูกจับกลับมารับโทษและได้รับอิสระไปแล้ว นายวัฒนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี

++จำคุกจริง“หมอเลี้ยบ”1ปี
ในวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ศาลมีคำพิพากษา น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ “หมอเลี้ยบ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช กรณีแทรกแซงการตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ ศาลพิพากษาให้จำคุก น.พ.สุรพงษ์ เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 20,000 บาท โดยรอการลงโทษไว้ 1 ปี

ไม่กี่วันก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม 2559 ศาลได้พิพากษาใน “คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป” ให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา และปรับ 20,000 บาท กรณีที่น.พ.สุรพงษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา 157 กรณีที่มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ(ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)

++คุก6ปี“ชูชีพ”คดีฮั้วปุ๋ย
ขณะที่ “คดีฮั้วประมูลจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์” เป็นอีกคดีที่มีนักการเมืองระดับสูงกระทำผิด ซึ่งศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ให้จำคุก นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 1 และนายวิทยา เทียนทอง อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 17 โดยศาลพิพากษาให้จำคุกคนละ 6 ปี ไม่รอลงอาญา

จากจำนวนหลายสิบคดีที่ศาลมีคำพิพากษาตลอดช่วง 16 ปีนี้ มีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีที่ต้องโทษจำคุกจริงอยู่เพียง 3 รายเท่านั้น และยังอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีอีก 3 ราย

ส่วนคดีจำนำข้าว และจีทูจีข้าว ที่มี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ตกเป็นจำเลย ซึ่งศาลฎีกานักการเมืองนัดพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ผลจะลงเอยเช่นไร ต้องรอดูกัน...

TP14-3285-A ++ยกฟ้อง 4 คดีดัง
จากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหลายคดีที่พิพากษาให้ยกฟ้อง เช่น “คดีทุจริตกล้ายาง” ที่คณะกรรมการตรวจสอบการ กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 44 ราย ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 เนื่องจากฟังไม่ได้ว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

“คดีสนามกอล์ฟ อัลไพน์” โดยคดีนี้ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเสนาะ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ โดยศาลพิพากษาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 ยกฟ้องเนื่องจากขาดอายุความ

[caption id="attachment_191938" align="aligncenter" width="334"] เสนาะ เทียนทอง เสนาะ เทียนทอง[/caption]

รวมถึง “คดีขึ้นทะ- เบียนเขาพระวิหาร” โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558 ศาลพิพากษายกฟ้อง กรณีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีที่ไปลงนามในแถลงการณ์ ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ที่สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย

และคำพิพากษาศาลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี 2551 ที่มี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท. สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560