สนช.หนุนร่างก.ม.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

11 ส.ค. 2560 | 08:16 น.
สนช.มีมติ 188 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไว้พิจารณา มุ่งส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ..... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 188 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 192 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน กรอบระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน

[caption id="attachment_193193" align="aligncenter" width="318"]  นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปี 2543 บางประการให้เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มเติมให้มีการใช้รายได้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดลักษณะของเอสเอ็มอี เพื่อให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแต่งตั้งประธานกรรมการจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ รวมทั้งกำหนดรองรับให้คณะกรรมการบริหารเท่าที่มีอยู่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้กรณีขนาดองค์ประกอบ ตลอดจนกำหนดกระบวนการรองรับให้มีการเลือกประธานกรรมการในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ

ด้านสมาชิก สนช.เห็นด้วยในหลักการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหัวใจสำคัญของฐานเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตามได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น อาทิ ควรมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเอสเอ็มอีในสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพในแต่ละท้องถิ่น เพื่อเป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของเอสเอ็มอี, กำหนดบทบัญญัติสำหรับการกำกับ ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการใช้งบประมาณการส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างเข้มเข้ม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นภาคประชาชนให้ครบถ้วนในทุกมิติ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น