2 เจ้าสัว “เจริญ-ธนินท์”ทำสงครามธุรกิจชิงไหวชิงพริบปล่อยหมัดขยายอาณาจักรไล่เทกกิจการไทยเทศ คู่ฟัดเคยแย่งทำเลพระราม 4 เตรียมสู้ซื้อที่สถานทูตออสซี่ เผยไทยเบฟซื้อ KFC ใช้ไก่วัตถุดิบกระทบซีพี คาดดัน EST เข้า KFC เบียด PEPSI
ร้อนฉ่าสะเทือนวงการ สำหรับความเคลื่อนไหวซื้อขายกิจการสาขาของ KFC ในเมืองไทยเบื้องต้น 240 สาขา วงเงิน 1.15 หมื่นล้านบาท พร้อมวางแผนขยายเพิ่มอีก 200 สาขา ไม่ตํ่ากว่า 3-4 พันล้านบาท ของกลุ่มไทยเบฟ เจ้าของเบียร์ช้างของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทยและอันดับ 61 ของโลกด้วยสินทรัพย์ 17,400 ล้านดอลลาร์ หรือ 591,600 ล้านบาท ส่วนอันดับ 2 ของไทยและอันดับ 129 ของโลกคือ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่มีสินทรัพย์ 11,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 397,800 ล้านบาท จัดโดยนิตยสารฟอร์บส์
การเข้าซื้อกิจการ KFC ช่วยให้ไทยเบฟขยายสู่ธุรกิจอาหารและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในกลุ่มร้านอาหารบริการด่วนได้ง่ายขึ้น ตอกยํ้าพันธกิจ 2020 ที่กลุ่มไทยเบฟต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจสุรา เบียร์ และนอนแอลกอฮอล์ (เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร) การซื้อ KFC ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนหรือ QSR (Quick Service Restaurants) ซึ่งมีมูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท โดยประเภทไก่ทอด ถือเป็นเซ็กเมนต์ที่มีขนาดใหญ่สุดหรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านบาท ปลุกตลาดให้ทั้ง?ผู้เล่นรายเดิม รายใหญ่ต้องขยับทัพเตรียมพร้อมรับมือ
ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเข้าซื้อแฟรนไชส์ KFC ถือว่าเป็นการรุกเข้าไปในธุรกิจไก่ ตามแนวทางการขยายสู่ธุรกิจอาหารบริการด่วน ซึ่งมีสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มที่สอดคล้องกับอาหารอยู่แล้ว ประกอบกับต้องการขยายฐานไปยังกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่
**ดัน EST ไล่ PEPSI
นอกจากวัตถุดิบหลักอย่างไก่ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เพราะปัจจุบันไก่ในสาขา KFC ทั้งหมดในประเทศไทย ต้นนํ้าวัตถุดิบเพื่อนำมาทอดซื้อจากค่ายซีพี อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ ตลาดนํ้าดำหรือนํ้าอัดลมประเภทโคล่า ซึ่งปัจจุบันตลาดนํ้าอัดลมเมืองไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตลาดนํ้าดำ 3.5 หมื่นล้านบาท และตลาดนํ้าสีกว่า 1 หมื่นล้านบาท
“KFC ถือเป็นหนึ่งในช่องทางขายสำคัญของตลาดนํ้าดำ โดยเฉพาะ PEPSI ซึ่งเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเดิมในระดับเวิลด์ไวด์ ผูกขาดกันมายาวนานกว่า 30 ปี ต้องถึงกาลเปลี่ยนแปลง” แหล่งข่าวที่ปรึกษาดีล KFC วิเคราะห์
เนื่องจากกลุ่มไทยเบฟมี EST อยู่ในอุ้งมือ ดังนั้นการซื้อ KFC จึงเป็นช่องทางให้ EST เข้าไปวางจำหน่ายนํ้าดำ ต่อไปอาจจะรวมไปถึงชาเขียวภายใต้แบรนด์โออิชิ อาหารพร้อมทานโออิชิและนํ้าดื่มคริสตัล เป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการใน KFC ด้วย เพียงแต่รอเวลา คาดว่าประมาณปลายปีตามรอบการเซ็นสัญญาระหว่างไทยเบฟเวอเรจและยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
**ย้อนรอย2เจ้าสัวแข่งขัน
ด้วยความใหญ่ของ 2 เจ้าสัว จึงทำให้หลายครั้งที่ผ่านมามีการช่วงชิงความเป็นเจ้าของไม่ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินแปลงงาม ตึกขนาดใหญ่หรือแม้แต่ธุรกิจประกันภัย ยกตัวอย่างที่ดินย่านราชดำริ ซึ่งปัจจุบันเป็นของบริษัท แมกโนเลีย ไฟน์เนสท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือซีพีอยู่ระหว่างเปิดโครงการ แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด เป็นที่สนใจของเจ้าสัวเจริญแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับค่ายซีพี ขณะเดียวกันที่ดินแปลงใหญ่ข้างสวนลุมพินี ย่านพระราม 4 ที่ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ในเครือไทยเบฟได้ไปเมื่อปลายปี กำลังวางแผนก่อสร้างโครงการวัน แบงค็อกด้วยงบลงทุน 120,000 ล้านบาท ตั้งเป้าแลนด์มาร์กระดับโลกแห่งใหม่ ก็เป็นทำเลที่ซีพีแลนด์ในกลุ่มซีพีต้องการมาก่อน ล่าสุดที่ดินบริเวณสถานทูตออสเตรเลีย ย่านสาทรที่อยู่ระหว่างประกาศขายก็เป็นที่ต้องการของทั้งกลุ่มไทยเบฟและซีพี
ก่อนหน้านี้ เครือซีพีซื้อกิจการศูนย์ค้าส่งอย่างสยามแม็คโคร (MAKRO) มูลค่า 1.88 แสนล้านบาท ต่อมาเจ้าสัวเจริญก็เดินหน้าซื้อบิ๊กซีก่อนจะสำเร็จในปี 2559 ด้วยมูลค่า 2 แสนล้านบาท ในนามเบอร์ลี่ยุคเกอร์ สำหรับกิจการห้างสรรพสินค้าปัจจุบันไทยเบฟยังเป็นเจ้าของพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ยังไม่นับการแข่งขันในธุรกิจประกันภัยที่เจ้าสัวเจริญทำมาก่อนอย่างอาคเนย์และอินทรประกันภัย ขณะที่เจ้าสัวธนินท์กระโจนลงสนามธุรกิจประกันโดยซื้อหุ้นผิงอัน อินชัวรันซ์ บริษัทประกันยักษ์ใหญ่จากเมืองจีน
การขยายกิจการออกไปในต่างประเทศทั้ง 2 กลุ่มอาจไม่แตกต่างกัน แต่พื้นที่เป้าหมายกลุ่มไทยเบฟเน้นในภูมิภาค เช่น เวียดนาม ขณะที่ซีพีเบนเข็มไปให้นํ้าหนักไปทางยุโรปมากขึ้น ห้ามกะพริบตา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560