ตลาดคุณแม่สายโซเชียลโตต่อเนื่อง แนะ 5 อุตฯพัฒนาสินค้าตอบดีมานด์

12 ส.ค. 2560 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2560 | 12:00 น.
12 สิงหาคม 2560 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยตลาดคุณแม่สายโซเชียล หรือคุณแม่ในยุคดิจิทัล ประกอบด้วย กลุ่มตั้งครรภ์ กลุ่มคุณแม่ที่มีบุตรอายุไม่เกิน 16 ปี และกลุ่มที่มีอายุ 21-35 ปี มีแนวโน้มขยายตัวทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยจากข้อมูลพบว่าปี 2560 มีปริมาณกว่า 8 ล้านคน และเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทั้งในด้านกำลังและอำนาจในการตัดสินใจซื้อ ทั้งยังนิยมเข้าสื่อดิจิทัล มีทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคที่ให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลสุขภาพ ตามกระแสแฟชั่น นิยมสินค้าออแกนิก และใส่ใจในเรื่องโปรโมชั่น

[caption id="attachment_193797" align="aligncenter" width="335"] ดร.พสุ โลหารชุน  ดร.พสุ โลหารชุน[/caption]

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)  เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พบว่า กลยุทธ์การเจาะตลาดใหม่ที่น่าจับตามองในขณะนี้ก็คือ กลุ่มคุณแม่ โดยเฉพาะที่เป็นคุณแม่รุ่นใหม่ ซึ่งถือว่ามีความน่าสนใจทั้งในแง่ของกำลังซื้อสูง ความชัดเจนของพฤติกรรมการบริโภคที่ต่างจากกลุ่มอื่นๆ การให้ความสนใจในการรับสื่อ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการเข้าถึงเทคโนโลยีและช่องทางออนไลน์ที่ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพทางกลไกตลาด เนื่องจากมีความต้องการในการบริโภคหลากหลาย  มีกลุ่มประเภทสินค้ามากมายไม่จำกัด นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทั้งในด้านกำลังและอำนาจในการตัดสินใจซื้อสูง เนื่องจากอยู่ในกลุ่มคุณแม่ยุค Digital ที่ประกอบด้วย กลุ่มที่กำลังคั้งครรภ์ จนถึงคุณแม่ที่มีบุตรอายุไม่เกิน 16 ปี และคุณแม่ในกลุ่มอายุ 21 – 35 ปี ซึ่งมีจำนวนประมาณ 8 ล้านคน (ศูนย์วิจัยสถาบันอาร์แอลจี)

ดร.พสุ กล่าวต่อว่า ด้านพฤติกรรมและทัศนคติในการบริโภคของกลุ่มดังกล่าวที่น่าสนใจในการนำมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดของผู้ประกอบการ พบว่า กว่า 58% เริ่มมีพฤติกรรมในการรับชมโทรทัศน์น้อยลง ให้ความนิยมในการรับและเชื่อถือสื่อดิจิทัลทั้งบนอุปกรณ์ PC แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนมากกว่าสื่อดั้งเดิม  โดยกิจกรรมบนโลกออนไลน์ที่ใช้สูงสุดก็คือ เช็กอีเมล์ 85% เข้าเว็บไซต์เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก 83% ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก 81% ช้อปปิ้งออนไลน์ 73% และค้นหาข้อมูลทั่วไป 72%(ที่มา theAsianparent.com) นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลรูปร่าง การออกกำลังกาย การแต่งกายตามกระแสแฟชั่น นิยมบริโภคอาหารและเครื่องดื่มประเภทออแกนิกที่ดีต่อสุขภาพ สินค้าอื่นๆ ที่ต้องปราศจากหรือเลี่ยงสารเคมีที่น้อยที่สุด รวมถึงพฤติกรรมแบบปัจเจก ทั้งการจงรักภักดีต่อแบรนด์ รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ที่ตรงใจ ความใส่ใจในเรื่องโปรโมชั่น รวมถึงสินค้าที่สามารถสร้างสังคมกับเพื่อนๆ ในโลกโซเชียลมีเดียได้ เป็นต้น

จากข้อมูลด้านทัศนคติและพฤติกรรมข้างต้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพบว่า 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังได้รับอานิสงส์จากกลุ่ม พร้อมทั้งคาดว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ได้แก่

1. กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าสำหรับเด็ก ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้มากที่สุดพบว่า จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชั่นหรือคุณสมบัติพิเศษ โดยเฉพาะสินค้าที่ชูในเรื่องของการส่งเสริมความฉลาดหรือพัฒนาการจะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ ได้แก่ อุตสาหกรรมเสื้อผ้า โดยมีปัจจัยจากพัฒนาการทางการเติบโตและกระแสแฟชั่น โดยเฉพาะเสื้อผ้าในกลุ่มเส้นใยธรรมชาติและฝ้าย อุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์สำหรับชีวิตประจำวันและของเล่น เช่น ครีมอาบน้ำ ผ้าอ้อม ของเล่นที่ผลิตจากยางพารา และอุตสาหกรรมอาหารสำหรับเด็ก อาทิ นมผง อาหาร ขนมพร้อมรับประทาน ทั้งนี้ ในปี 2558 -2563 มีการคาดการณ์ว่ากลุ่มอาหารทั่วโลกจะมีการเติบโตร้อยละ 6 ต่อปี มีมูลค่าราว 7.3 หมื่นล้านดอลล่าร์ฯ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ได้แก่ อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย (ที่มา Exim Bank)

2. อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ผู้บริโภคในกลุ่มคุณแม่ยุคดิจิทัล ถือว่าเป็นกลุ่มต้นๆ ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องรูปร่าง ผิวพรรณ ระบบภายใน และการรักษาโรค โดยในกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังและยินดีในการใช้จ่ายเพื่อการเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดแม้จะราคาสูง สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้สูงสุดก็คือ อาหารเสริมความงาม อาหารเสริมสุขภาพและรักษาโรค และอาหารเสริมเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย โดยมีมูลค่ารวมกันกว่า 6.67 แสนล้านบาท ซึ่งยังมีการคาดการณ์ไว้อีกว่าในปี 2560     จะเติบโตขึ้นอีกประมาณ 11 % หรือ 7.38 แสนล้านบาท (ที่มา ศูนย์วิจัยธ.ไทยพาณิชย์) โดยผู้ประกอบการที่ต้องการอาศัยโอกาสดังกล่าวจะต้องเน้นการขยายตลาดในเชิงลึก ด้วยการมุ่งเน้นนวัตกรรมใหม่ๆ และคุณสมบัติที่หลากหลาย เพื่อให้สินค้าเกิดความน่าสนใจมากขึ้น

ffllc444 3. อุตสาหกรรมแฟชั่น กว่า 91% ของคุณแม่วัย 21-35 ปี และส่วนใหญ่ยังคงมีการดำเนินชีวิตประจำวันใกล้เคียงกับตอนมีบุตร โดยเฉพาะการตามกระแสแฟชั่น ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เองก็ถือได้ว่ามีทางเลือก โดยเฉพาะการเน้นการออกแบบที่มีประสิทธิภาพขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดเย็บเสื้อผ้า ไซส์ของเครื่องแต่งกาย การออกแบบลวดลาย สี และรูปทรงของเครื่องประดับและอุปกรณ์เพื่อการสวมใส่ที่สอดคล้องกับผู้หญิงบุคลิกต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายยังได้พัฒนานวัตกรรมและฟังก์ชั่นเพื่อชูจุดเด่นของแบรนด์สินค้า เช่น เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยฟิลาเจน อาทิ ชุดคลุมท้อง ถุงเท้า ผ้าขนหนู สิ่งทอจากเส้นใยสับปะรด เสื้อผ้ากันน้ำ ซึ่งเชื่อว่าแฟชั่นไทยในปีนี้จะยังคงมีการเติบโตที่ระดับ 9 แสนล้านบาทตามคาด

m0812-1-2 4. อุตสาหกรรมด้านอุปกรณ์ดิจิทัลและบริการแอปพลิเคชั่น พฤติกรรมของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ยังคงต้องการเข้าสังคม ชอบความบันเทิง ชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใช้ง่ายไม่ซับซ้อนเพื่อช่วยลดภาระ และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับตัวเองและครอบครัว สำหรับกลุ่มสินค้าและการบริการในกลุ่มนี้ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่โตเงียบ เนื่องจากมีผู้ประกอบการในตลาดน้อยรายแต่มีความต้องการในปริมาณมาก ซึ่งสินค้าที่กลุ่มนี้นิยมเลือกซื้อและมีความน่าสนใจ อาทิ ร้านค้าออนไลน์ เครื่องปั๊มและถุงเก็บน้ำนม เบบี้มอนิเตอร์ อุปกรณ์เสริมเพื่อการถ่ายภาพ แอปพลิเคชั่นด้านเดลิเวอรี่ อาทิ บริการทำความสะอาด ขนส่ง แอปพลิเคชั่นเพื่อการติดตามลูก อุปกรณ์เครื่องทำความสะอาดอัตโนมัติ เป็นต้น

m0812-2-3 5. อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จากค่านิยมเรื่องความสวยความงาม และการดูแลตนเอง เครื่องสำอางได้กลายเป็นสินค้าที่ก้าวเข้ามามีบทบาทกับผู้บริโภคสตรีแทบทุกวัย โดยยังถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเนื่องจากกำลังซื้อ ความภักดีต่อแบรนด์ และโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อต่างๆ สำหรับความนิยมและการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของกลุ่มคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์พบว่าต้องการสินค้าประเภทให้ความชุ่มชื้น ดูแลผิวพรรณ ลดภาวะการเกิดสิว ส่วนคุณแม่อื่นๆ ยังคงนิยมทั้งด้านผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลและผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่ง อาทิ ลิปสติก น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ปกปิดริ้วรอย อย่างไรก็ดีมีการคาดการณ์ว่าในปี 2560 นี้ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางน่าจะมีการเติบโตที่เกือบระดับ 3 แสนล้านบาท (ที่มา: คลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย) โดยเทรนด์ที่ผู้ประกอบการยังต้องปรับในอนาคตคือ ลดการใช้น้ำ เน้นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงการผลิตเครื่องสำอางสำหรับเด็ก เป็นต้น