อุดรฯเดินหน้าซิตีบัส ติดจีพีเอส-ฟรีไวไฟ

13 ส.ค. 2560 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2560 | 14:30 น.
อุดรเตรียมชูซิตี บัส ติดจีพีเอส-ฟรีไว-ไฟ อนุมัติ 2 เส้นทาง สนามบิน-บิ๊กซีและแยกหนองคาย-แยกขอนแก่น เทศบาลนครอุดร ยันลงทุนเองทั้งระบบ

นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครอุดรธานี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ คณะกรรมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอุดรธานี โดย นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอุดรธานี ได้ลงนามในหนังสือประกาศ เรื่องการกำหนดเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร รถประจำทาง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (1) แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ประกอบมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอุดรธานี ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559 และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณากิจการขนส่งทางบกกลาง ในการประชุมครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 โดยได้รับการมอบหมาย จากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ในการประชุมครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559

[caption id="attachment_193435" align="aligncenter" width="503"] อิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ อิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ[/caption]

ประกาศดังกล่าว อนุมัติเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสาร หมวด 1 จังหวัดอุดรธานี สายที่ 20 หรือสาย A สายตะวันออก-ตะวันตก ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาอุดรธานี ถึง ท่าอากาศยานอุดรธานี ในหนังสือประกาศฯฉบับเดียวกันนี้ ได้มีการอนุมัติสายที่ 21 หรือ สาย B สี่แยกตลาดรังษิณา (สี่แยกหนองคาย)-สี่แยกบ้านจั่น(สี่แยกขอนแก่น)

นายกเทศมนตรี เทศบาลนครอุดรธานี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการที่ได้มอบให้บริษัทที่ปรึกษาฯ ทำการศึกษาแก้ไขปัญหาจราจรเมืองอุดรธานีและโครงการระบบขนส่งมวลชนนี้ของเทศบาลนครอุดรธานี ไปจนถึงในอนาคต 20 ปี ข้างหน้า ที่ปรึกษาได้วางกรอบเอาไว้ 3 ระยะ คือ ระยะสั้น คือการทำการศึกษาความเป็นไปได้ ระยะกลางคือ การขออนุมัติเส้นทางการเดินรถ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว ระยะยาว คือการจัดการบริหารโครงการ จัดหารถโดยสาร โดยทั้งหลายทั้งมวล เพื่อเป็นการสร้างระบบขนส่งให้เกิดการเชื่อมต่อจากท่าอากาศยานอุดรธานีเข้ามายังตัวเมือง

MP24-3287-B ซึ่งในขั้นตอนนี้ ทางผู้ทำการศึกษาระบุว่า จะต้องใช้รถโดยสารขนาดเล็ก หรือซิตีบัส(City Bus) เป็นรถเมล์ประจำทางปรับอากาศขนาดเล็ก ซึ่งทางเทศบาลนครอุดรธานีจะเป็นผู้ลงทุน เนื่องจากเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องจัดสรรหาบริการสาธารณะ หรือ สาธารณูปโภคให้กับประชาชน โดยในเบื้องต้นเทศบาลฯได้ตั้งงบประมาณจำนวน 60 ล้านบาท ในการจัดหารถโดยสาร จะเป็นซิตีบัสเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ พนักงานขับรถ การจัดการบริหาร และคาดว่าจะเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาท ตลอดสาย นักเรียน นักศึกษา ในเครื่องแบบ เด็กเยาวชน เก็บ 10 บาท

โดยรถซิตีบัสปรับอากาศนี้ จะเป็นทางเลือกของผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และคาดว่าจะสามารถลดอัตราการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง ส่วนที่น่าเป็นห่วงที่พบปัญหาในหลายๆจังหวัดคือ เรื่องของประชาชนไม่ค่อยนิยมในระบบสาธารณะที่ท้องถิ่นจัดหามาให้

ในอนาคตเนื่องจากจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดใหญ่ เทศบาลนครอุดรธานี ก็เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นประจำ ทำให้เทศบาลนครอุดรธานีจะต้องเตรียมแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาฯวางกรอบเอาไว้ จะต้องมีการใช้ระบบขนส่งมวลชนที่มีขนาดใหญ่ สามารถขนคนได้เป็นจำนวนมากขึ้น เช่นระบบแทรมหรือรถไฟฟ้ารางเบาที่จังหวัดใหญ่ๆ นำเอาไปใช้ รองรับการเจริญเติบโตของบ้านเมืองและปัญหาการจราจร

นายนิติธร เพชรคูหา ผู้อำนวยการขนส่งจังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณากิจการขนส่งทางบกกลาง และ คณะกรรมการขนส่งทางบกประจำจังหวัดอุดรธานี มีการอนุมัติเส้นทางทั้ง 2 เส้นทางเรียบร้อยแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือ การประกาศหาผู้สนใจในการลงทุนจัดทำโครงการ จัดหาตัวรถมาวิ่งตามที่มีการกำหนดเส้นและจุดจอดรับ-ส่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560