thansettakij
‘นวนคร’วาง 3 เฟสปั้นพื้นที่อัจฉริยะ-ผุดเมืองใหม่

‘นวนคร’วาง 3 เฟสปั้นพื้นที่อัจฉริยะ-ผุดเมืองใหม่

19 ส.ค. 2560 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2560 | 20:00 น.
ออกมาประกาศรุกเข้าสู่ธุรกิจบริการและระบบสาธารณูปโภคเต็มตัวสำหรับ นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCL ผู้ดำเนินธุรกิจหลักในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และให้บริการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ออกมาประกาศผ่านสื่อชัดเจนถึงจุดยืนในการทำธุรกิจด้านบริการที่ขณะนี้กลายเป็นกลุ่มที่ทำรายได้หลักให้กับนวนครไปแล้ว โดยมีสัดส่วนรวมมากถึง 70% ของยอดขายทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนยอดขายจากซีกสวนอุตสาหกรรมจะค่อยๆลดลง

สอดคล้องกับที่เมื่อเร็วๆนี้นวนครตอกยํ้าการเติบโตของรายได้ด้านบริการ จากการจับมือกับบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT ผู้ประ กอบธุรกิจโทรคมนาคมแบบครบวงจรลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อวางโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสงความเร็วสูง (High Speed Fiber Optic) ให้เช่าภายในสวนอุตสาห กรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี มีระยะเวลาสัญญา 16 ปี เนื่องจากระบบสื่อสารดิจิตอลความเร็วสูงจะเข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและผู้อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมากที่สุด โดยภายในไตรมาส 4 ปี 2560 จะเริ่มดำเนินการวางโครงข่ายได้แล้ว และในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2561จะเปิดให้บริการได้

[caption id="attachment_194963" align="aligncenter" width="503"] นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCL นิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCL[/caption]

**3เฟสลงทุนหลักพันล้าน
ซีอีโอ NNCL มองว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี ที่มีพื้นที่ให้บริการมากกว่า 6 ตารางกิโลเมตร มีโรงงานอุตสาหกรรมรวมจำนวน 198 โรงงาน มีที่อยู่อาศัยมากกว่า 5,000 หลังคาเรือน และมีจำนวนประชากรในพื้นที่มากกว่า 1.50 แสนคน และมีคนหมุนเวียนตลอดราว 2.3 แสนคน ทำให้การสร้างและบริการระบบสื่อสารดิจิตอลความเร็วสูงเพื่อให้บริการและตอบสนองความต้อง การของผู้ประกอบการและผู้อาศัยได้ อีกทั้งเป็นช่องทางธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดโครงการ ระบบสายสื่อสาร “ Navanakorn Smart City” โดยลงทุนทั้งหมด 3 เฟส (ดูตาราง) ใช้เงินลงทุนรวมทั้งหมดหลักพันล้านบาทขึ้นไป โดยเฟสแรก ALT ลงทุน 150 ล้านบาทและเช่าที่ NNCL ดำเนินการ ส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นจะแบ่งกันตามความเหมาะสม

นายนิพิฐ อธิบายอีกว่า จุดเริ่มแรกเรามีปัญหาพื้นที่ในสวนอุตสาหกรรมมีสายไฟเต็มไปหมด ทั้งรถก่อสร้างรถเครนมาเกี่ยวสายไฟฟ้าล้ม นกมาทำรัง เกิดปัญหาไฟฟ้าช็อต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายสื่อสารทั้งนั้น เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรนำสายลงดินทั้งหมดโดยการวางสายเคเบิ้ลเพื่อเป็นเครือข่าย ซึ่งในอนาคตเราก็มีโครงการเชื่อมกับทางมหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสวทช.ที่จะทำสมาร์ท ซิตี บังเอิญมันเป็นสถานที่ที่อยู่ติดกันหมดอยู่แล้ว ถ้าเชื่อมกันได้ก็จะเป็นศูนย์รวมประชากรในจำนวนที่สูงมาก

**ปลุกเมืองใหม่เทียบสยาม
นอกจากนี้รถไฟฟ้าสายสีแดงกำลังก่อสร้างมาถึงมหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกนิดเดียวก็มาถึงนวนคร ปทุมธานี ก็จะเป็นศูนย์รวมประชากรที่มีขนาดใหญ่และเริ่มมีการเคลื่อนย้ายเข้ามามากขึ้น พอดีกับที่สวนอุตสาห กรรมนวนคร พื้นที่ตรงบริเวณด้านหน้ามีที่ดินยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ประมาณ 100 ไร่ มีแผนจะทำคอมมิวนิตีมอลล์ จะมีทั้งโรงแรม ที่อยู่อาศัย หอพัก ซึ่งผมฝันไว้ว่าจะทำแบบให้เหมือนย่านจุฬาฯ-สยาม หรือแบบย่านพญาไท-อังรีดูนังต์ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เรามีถนนเส้นในทะลุถึงมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ออกมาทางพหลโยธิน ถ้าเชื่อมตรงนี้ได้ทั้งหมด ทางสวทช.ก็พร้อมที่จะไปศึกษาโลจิสติกส์ภายในด้วยกัน ส่วนธรรมศาสตร์ยังไม่ได้คุยกันเป็นเรื่องเป็นราว และจะให้ทางคณะสถาปัตย์ธรรมศาสตร์เป็นคนทำการศึกษาด้านนี้ให้ด้วย

ส่วนความคืบหน้าตรงนี้ล่าสุดเรามีการคุยกับทางการรถไฟฯอยู่ เพราะสถานีรถไฟสายสีแดงปัจจุบันมาจบตรงที่ธรรม ศาสตร์พอดี ถ้าต่อมาอีกนิดเดียวก็ถึงที่ของนวนคร แค่ระยะทาง 3 กิโลเมตรเท่านั้น จากเดิมสายสีแดงจากดอนเมืองมาถึงธรรม ศาสตร์ จะมี 30,000 เที่ยวต่อวัน แต่ถ้าบวกนวนครเข้าไปด้วยแล้วจะเพิ่มเป็น 60,000 เที่ยวต่อวัน คนที่ทำงานในนวนครที่มีประมาณ 1.5-2 แสนคน พอเลิกงานก็สามารถขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯ เข้าเมือง ดูหนัง ทานข้าว ช็อปปิ้ง พอเสร็จก็นั่งรถไฟกลับที่พักในย่านนวนครเพราะที่พักที่อยู่อาศัยก็ถูกกว่า ถ้าผมทำที่อยู่อาศัยคุณภาพเดียวกับสุขุมวิทปลายๆราคาก็ต้องถูกกว่า 30% ประมาณ 3 ดาว หรือประมาณแอลพีเอ็น เรียกว่าราคาต้องถูกกว่าข้างนอก เพราะต้นทุนที่ดินถูกกว่า

สำหรับธุรกิจด้านพลังงานเรามีโรงผลิตไฟฟ้าที่กำลังจะขึ้นโครงการที่ 2 อีก 65 เมกะวัตต์ไตรมาสแรกปีหน้าจะเริ่มก่อสร้างได้ ล่าสุดกำลังคุยกับพาร์ตเนอร์ อีกรายว่าจะทำโซลาร์รูฟด้วย เพราะมีที่ มีโรงงานเยอะก็จะทำให้เป็นรูปแบบชัดเจนขึ้น และสิ่งที่จะเชื่อมโยงเข้ากันได้คือ การวางโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสงความเร็วสูง ซึ่งเป็นตัวแกนนำ ที่จะทำให้ธุรกิจอื่นๆในอนาคตตามมาอีกมากมาย ทั้งระบบไว-ไฟ อี-คอมเมิร์ซทั้งหลาย แม้แต่ด้านนาโนไฟแนนซ์มันจะเกิดธุรกิจต่อยอดขึ้นในพื้นที่อย่างมหาศาล นี่คือแผนธุรกิจที่เราจะร่วมมือกับALT

tp10-3288-1a **รายได้ขายที่ดินแค่โบนัส
กรรมการผู้จัดการ NNCL กล่าวถึงธุรกิจสวนอุตสาหกรรมว่า ขายที่ดินขายแล้วจะหมดไป ทุกวันนี้รายได้ที่เข้ามาใหม่เหมือนเป็นโบนัส ส่วนธุรกิจบริการและให้บริการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งเรามีทั้งโรงไฟฟ้า นํ้า เพื่ออุตสาหกรรม บริการสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย การกำจัดขยะ รวมถึงการวางโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสงความเร็วสูง กลุ่มนี้รวมเป็นรายได้หลักทั้งหมด มีสัดส่วน 65-70% เมื่อเทียบกับรายได้รวมปี 2560 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท (ยังไม่รวมรายได้จากการขายที่ดินให้ลูกค้า 2 รายใหญ่รวม 76 ล้านบาทที่กำลังเซ็นสัญญาภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า) เทียบกับปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 752 ล้านบาท “ขณะนี้เรามีที่ดินที่นวนคร โคราชประมาณ 2,000 ไร่ ยังเหลือขายอีกราย 800 ไร่ ส่วนที่นวนครปทุมธานีมีที่ดิน 6,000-7,000 ไร่ขายเกือบหมดแล้ว ซึ่งผมมองว่าการทำนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่น่าจะใช่อีกต่อไป และส่วนใหญ่ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ในไทยน่าจะเป็นนิคมหรือสวนอุตสาหกรรมที่เฉพาะทางมากขึ้น เช่น นิคมอุตสาหกรรม R&D ฐานผลิตไทยก็กลายเป็นแหล่งผลิตที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น” นายนิพิฐกล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560