ช่วงเวลาของเทศกาลวันแม่เพิ่งผ่านไป มองไปรอบตัว (หรือใน Social Network) ก็จะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่หลายครอบครัวมารวมตัวพร้อมหน้าพร้อมตากันแบบครบวงศ์ตระกูลบางคนฉลองเทศกาลนี้เป็นครั้งแรกในฐานะคุณแม่คุณพ่อมือใหม่บางคนฉลองกันเป็นคู่ บางคนอยู่กับเพื่อน หรือบางคนไม่ฉลองอะไรเลย
ส่วนใหญ่แล้วการแต่งงานมีครอบครัวมักจะเป็นการตัดสินใจของคนเลือกที่จะมาอยู่ร่วมกัน ส่วนการไม่มีครอบครัวก็อาจเป็นการตัดสินใจเลือกที่จะอยู่คนเดียว หรืออาจเป็นการที่ยังไม่สามารถหาคนแบบที่อยากได้มาอยู่ด้วยกันได้ บางคนเลือกที่จะแต่งงานแต่เลือกที่จะไม่มีลูก บางคนเลือกที่จะแต่งงานแต่สุดท้ายแล้วเลือกที่จะแยกทาง ทั้งนี้ไม่ว่าใครจะอยู่ในสถานะไหนก็ถือว่าเป็นสถานะที่ “ปกติ” ทั้งสิ้น
ในทางเศรษฐศาสตร์มีทฤษฎีที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนต่างๆ ของการตัดสินใจที่จะมี (หรือไม่มี) ครอบครัว โดยผู้เขียนจะขอเล่าให้ฟังเป็นขั้นๆ ดังนี้ค่ะ
**1.หาคู่ (Search & Matching)
“ทฤษฎีการค้นหาและจับคู่” (Search and Matching Theory) คิดค้นขึ้นมาโดย Peter Diamond, Dale Mortensen และ Christopher Pissarides (ได้รับรางวัล Nobel ปี 2010)อธิบายว่าการ “หาคู่” นั้นมักจะมี “อุปสรรค” (Frictions) เช่น การที่มนุษย์มีคุณสมบัติที่ต่างกัน (Heterogeneity) ทำให้การหาคู่ที่เหมาะสมถูกใจเป็นไปได้ยากกว่าการหาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป หรือการที่ข้อมูลในสังคมนั้นไม่ทั่วถึง (Imperfect Information) ทำให้ชายโสดและหญิงโสดที่เหมาะสมกันหากันไม่เจอ (จริงๆทฤษฎีนี้ใช้อธิบายการจับคู่ของตำแหน่งงานกับคนหางานในตลาดแรงงาน แต่ต่อมาได้มีการนำมาประยุกต์ใช้กับ ตลาดหาคู่)
อย่างไรก็ดีในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิตอลได้ช่วยทำให้ “อุปสรรค” หลายอย่างลดลง เช่น ทำให้ข้อมูลคนโสด กระจายไปในวงกว้างได้ง่ายขึ้นและให้คนโสดติดต่อกันได้ง่ายขึ้น แต่การที่ “อุปสรรค” นั้นลดลงอาจไม่ได้ทำให้การจับคู่นั้นเกิดง่ายขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการไม่มี “อุปสรรค” ทำให้คนโสดแต่ละคนมีตัวเลือกมากมาย ทำให้ไม่มีความอดทนพอในการทำความรู้จักกัน พอไม่ถูกใจอะไรนิดหน่อยหรือเจอคนใหม่ที่ถูกใจกว่าก็วิ่งไปหาคนใหม่ได้ทันที
[caption id="attachment_198051" align="aligncenter" width="503"]
เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการมีครอบครัว[/caption]
**2.หาได้แล้วทำอย่างไรต่อ (Marriage)
สมมติว่ามีชายโสดหญิงโสดวาสนาดีได้มาเจอกัน และพบว่าการอยู่ด้วยกันนั้นทำให้ต่างฝ่ายต่างมีความสุขมากกว่าการอยู่คนเดียวจึงได้ตัดสินใจแต่งงานมาอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน Gary Becker (นักเศรษฐศาสตร์รางวัล Nobel ปี 1992)ได้นำ Model ทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายการแต่งงาน (Theory of Marriage) โดยเสนอว่าหากหญิงชายได้แต่งงานเป็นครอบครัวกันแล้ว การตัดสินใจจะไม่ใช่การตัดสินใจของแต่ละคนอีกต่อไป แต่เป็นการตัดสินใจร่วมกัน โดยมองเหมือนครอบครัวนั้นเป็นคนคนเดียว (Household as a single decision-making unit) และมีกระเป๋าเงินเดียวกัน
นอกจากนี้ Gary Becker ยังเสนอว่าหากผู้ชายสามารถทำงานหาเงินได้มากกว่าผู้หญิง อาจควรให้ผู้ชาย Specialize ในการทำงานหาเงินนอกบ้าน และให้ผู้หญิง Specialize ในการทำงานบ้าน เพื่อให้ครอบครัวได้ประโยชน์มากที่สุด
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันความหมายของครอบครัวนั้นกว้างขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น การแต่งงานอาจจะไม่ต้องมีการจดทะเบียนสมรส คู่แต่งงานอาจจะไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา เพราะมีความจำเป็นเรื่องงานทำให้
ต้องอยู่ต่างพื้นที่กัน คู่แต่งงานอาจให้อิสระกันและกันในการตัดสินใจเรื่องบางเรื่องโดยไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกันในทุกเรื่อง
นอกจากนี้ เรื่อง Gender Stereotype ที่ว่าผู้ชายต้องเป็นฝ่ายทำงานนอกบ้านส่วนผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายอยู่บ้านทำงานบ้านเท่านั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป
**3.มีหรือไม่มีดี (Children)
Gary Becker มองว่า “ลูก” ถือเป็นผลผลิตหนึ่งของการแต่งงาน (Output of the household produc- tion function) โดยคู่แต่งงานเลือกที่จะผลิตลูกเพราะการมีลูกนั้นเพิ่มความสุขความพอใจ (Utility) ให้กับคนเป็นพ่อแม่ แม้ว่าการมีลูกนั้นต้องทำให้พ่อแม่ต้องเสียสละเวลาและทรัพยากรที่สามารถจะเอาไปใช้ทำอย่างอื่นได้
ในปัจจุบันทัศนคติในสังคม อาจจะเปลี่ยนไปบ้าง หลายคู่แต่งงานเลือกที่จะไม่มีลูกด้วยเหตุผลต่างๆ กัน งานวิจัยของ Nattavudh Powdthavee (2008, 2009) พบว่าโดยรวมแล้วคู่แต่งงานที่มีลูกไม่ได้มีความสุขมากไปกว่าคู่แต่งงานที่ไม่มีลูก อย่างไรก็ดีประเด็นของการมีลูกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต่างคนต่างความคิด ต่างความชอบ ไม่ว่าคู่แต่งงานจะตัดสินใจอย่างไรก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ได้คิดแล้วว่า เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง
หลักแนวคิดทาง “เศรษฐศาสตร์” อธิบายเรื่องของการที่มนุษย์เลือก ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ภายใต้ข้อจำกัดที่มี (Budget Constraint) โดยข้อจำกัดของแต่ละคนก็ต่างกันออกไป ในชีวิตจริงคงไม่มีใครที่จะได้ทุกสิ่งที่
อยากได้ไปเสียทั้งหมด การมีครอบครัวที่มีความสุขในวันนี้ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แน่นอนได้ตลอดไป (สำหรับคนที่ Budget Constraint ไม่ Binding ในเรื่องครอบครัว ก็อาจมี Budget Constraint ที่ Binding ในเรื่องอื่นๆ) คงไม่มีใครที่จะสุขไปทั้งหมดได้ตลอดเวลา แต่ละคนก็มีปัญหาของตัวเอง
แต่ทางหนึ่งที่อาจเพิ่มความสุขที่มีได้ (แม้ว่า Budget Constraint จะเท่าเดิม) คือการเปลี่ยนวิธีคิด มองโลกในด้านดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่บ้างถ้ามีโอกาส ให้อภัยบ้างถ้าทำได้ เข้าใจว่าแต่ละสิ่งไม่แน่นอน และแต่ละคนก็ไม่ Perfect เนื่องจากทางเลือกในการคิดนั้นไม่มีข้อจำกัด ไม่เหมือนกับทางเลือกในการใช้จ่ายหรือทางเลือกในการใช้ชีวิต การเลือกที่จะคิดดีน่าจะทำให้แต่ละคนมีความสุขได้มากที่สุดไม่ว่า Budget Constraint ของแต่ละคนจะเป็นอย่างไรก็ตาม
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560