จุดพักรถบรรทุก แผน6ปีสร้าง18แห่งเร่งให้บริการโลจิสติกส์

23 ส.ค. 2560 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2560 | 16:48 น.
ตามข้อมูลการจับกุมรถบรรทุกนํ้าหนักเกินตามประเภทวัสดุบรรทุกวันที่ 1 ตุลาคม 2559-19 สิงหาคม 2560 ของตำรวจทางหลวงพบว่ามีจำนวนสูงถึง 3,730 คันส่งผลให้กรมทางหลวง (ทล.) ต้องเร่งดำเนินการพัฒนาโครงการก่อสร้างจุดจอดพักรถบรรทุก(Truck Rest Area) ตามเส้นทางหลักเพื่อรองรับและตรวจสอบรถที่ใช้เส้นทางให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและมีนํ้าหนักที่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยตามแผนนั้นทล.กำหนดก่อสร้างจำนวน 18 แห่ง เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2563 ใช้งบประมาณกว่า 3,400 ล้านบาท จำแนกเป็นปี 2558 นำร่องที่อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา (ขาเข้า) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่จุดอ.โนนสูง (ขาออก) ส่วนปี 2561 กำหนดดำเนินการใน 2 จุดคืออ.เมือง จ.ขอนแก่น และที่อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ปี 2562 ดำเนินการ 7 แห่ง คือ 1.อ.เมือง จ.อุดรธานี 2.อ.เมือง จ.กำแพงเพชร(ขาเข้า) 3.อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ 4.อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี 5.อ.เมือง จ.กำแพงเพชร (ขาออก) 6.อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ และ 7.อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ปี 2563 กำหนดก่อสร้าง 7 แห่ง คือ 1.ต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี 2.อ.เกาะคา จ.ลำปาง (ด้านซ้ายของทาง) 3.อ.เมือง จ.พะเยา 4.อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ 5.อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร 6.อ.คุระบุรี จ. พังงา และ 7.อ.เด่นชัย จ.แพร่

TP12-3290-B ปัจจุบันจุดให้บริการที่อ.โนนสูง(ขาเข้า) จัดสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2558 ได้จัดจำนวนช่องจอดรถบรรทุก 23 คัน รถทั่วไป 22 คัน พบว่านับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2558 มีรถบรรทุกเข้าไปใช้บริการจำนวน 992 คัน ปี 2559 จำนวน 18,584 คัน และนับตั้งแต่เดือนมกราคม- สิงหาคม 2560 มีจำนวน 17,927 คัน ดังนั้นหากรวมทั้ง 3 ปีจะพบว่ามีจำนวนรถเข้าไปใช้บริการกว่า 3.7 หมื่นคัน ส่วนจุดที่อ.โนนสูง (ขาออก) คาดว่าจะให้บริการในช่วงปลายปีนี้

สำหรับความสะดวกในการให้บริการจุกพักรถบรรทุกที่ทล.ดำเนินการมีทั้งพื้นที่จอดรถบรรทุก รถยนต์ส่วนบุคคล รถคนพิการ ห้องนํ้าสาธารณะ ห้องอาบนํ้า อาคารควบคุม ศาลาทางหลวงเพื่อการพักผ่อน และงานอำนวยความปลอดภัยที่ติดตั้งกล้องซีซีทีวีไว้ตรวจสอบในจุดต่างๆ ซึ่งบางแห่งยังอยู่ใกล้กับจุดชั่งนํ้าหนักรถบรรทุกที่สำนักงานควบคุมนํ้าหนักยานพาหนะ ทล.รับผิดชอบและปั๊มนํ้ามันให้บริการใกล้เคียงอีกด้วย

ทั้งนี้จุดพักรถดังกล่าวจะช่วยให้การหยุดพักรถบรรทุกตามข้อกำหนดของกฎหมายทั้งรถบรรทุกของไทยและจากต่างประเทศที่เป็นการยกระดับให้บริการโลจิสติกส์ของประเทศแล้วยังช่วยลดจำนวนและความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากรถบรรทุกหรือความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่ ลดอันตรายต่อผู้ขับรถที่อาจจะถูกปล้นหรือถูกทำร้ายร่างกายระหว่างจอดพักรถข้างทางได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560