2 ค่ายรถยนต์อเมริกัน ลดบทบาทเซ็กเมนต์รถยนต์นั่งในเมืองไทย “เชฟโรเลต” ทยอยเคลียร์สต๊อกล็อตสุดท้ายให้ ครูซ, แคปติวา ลั่นปีหน้าขอลุยแต่ปิกอัพและพีพีวี ด้าน “ฟอร์ด เฟียสต้า” ยอดวูบและไม่ยืนยันการทำตลาดโมเดลใหม่
ต้องยอมรับว่า ความถดถอยในกลุ่มรถยนต์นั่งที่ “ฟอร์ด” และ “เชฟโรเลต” เผชิญอยู่นี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นกับตัวรถ และแนวทางแก้ไขไม่สามารถตอบสนองความพอใจแก่ลูกค้าได้เพียงพอ ที่สำคัญช่วง 10 ปีหลัง ยังมีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจและเปลี่ยนมือผู้บริหารมาโดยตลอด
สอดคล้องกับสถาน การณ์ในกลุ่มรถยนต์นั่งที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี พร้อมนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของรัฐบาลไทยที่หลากหลายและยืดหยุ่น ซึ่งแนวทางเหล่านี้ดูเหมือนค่ายรถยนต์อเมริกันจะมีข้อจำกัดในการลงทุน ต่างจากค่ายญี่ปุ่นที่ลงหลักปักฐานในไทยอย่างแข็งแกร่ง
“เชฟโรเลต” ในเครือเจนเนอรัล มอเตอร์ส(จีเอ็ม) และ “ฟอร์ด” 2 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพและเอสยูวีที่พัฒนาบนพื้นฐานเดียวกัน(พีพีวี) ซึ่งไปได้ดีทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ทว่าในกลุ่มรถยนต์นั่งสถานการณ์มีแต่ทรงกับทรุด
ในปี 2558 เชฟโรเลตเคยประกาศเลิกผลิตเก๋งเล็กรุ่น “โซนิค” ที่โรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส จ.ระยอง และเลิกนำเข้าเอ็มพีวีรุ่น “สปิน” จากการปิดโรงงานผลิตที่ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมถอนตัวจากโครงการอีโคคาร์ เฟส2 ซึ่งถือเป็นการปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ของฐานการผลิตจีเอ็มในภูมิภาคอาเซียน
ล่าสุดยังมีความชัดเจนว่า อดีตบริษัทรถยนต์อันดับ 1 ของโลกจะไม่ทำตลาดคอมแพ็กต์คาร์ “ครูซ” และเอสยูวี “แคปติวา” ในไทย สะท้อนผ่านยอดขาย “ครูซ” ในปี 2558 ที่ทำได้ 594 คัน จากนั้นปี 2559 เหลือ 271 คัน ส่วนครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 60) “ครูซ” ทำได้ 152 คัน “แคปติวา” 274 คัน ลดลง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นางสาวอุณา ตัน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประสบการณ์ลูกค้า เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ยืนยันว่า ทิศทางในปี 2561 ของเชฟโรเลตจะทำตลาดเฉพาะปิกอัพ “โคโลราโด” และเอสยูวี “เทรลเบลเซอร์” ตามกลยุทธ์ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนรถยนต์นั่งอย่าง “ครูซ” และ “แคป ติวา” เลิกผลิตแล้ว คาดว่าสิ้นปีนี้หรือปีหน้าสต๊อกรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นจะหมด
“เรามุ่งไปให้ตรงจุดและถือว่ามาถูกทาง เห็นจากยอดขายปิกอัพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนรถยนต์นั่งรุ่น สปิน และโซนิค ที่เคยขายก่อนหน้านั้นก็ไม่มีแล้ว ส่วนครูซ สิ้นปีนี้น่าจะหมด ขณะที่แคปติวายังมีขายอยู่ คาดว่าปีหน้าสต๊อกจะหมดเช่นกัน อย่างไรก็ดีขอให้ลูกค้ามั่นใจ แม้รถจะไม่ได้ขายแล้ว แต่เรามีสต๊อกอะไหล่ไว้รองรับรถทุกรุ่น” นางสาวอุณา กล่าว
โดยเชฟโรเลตเพิ่งเปิดตัวพีพีวี (เอสยูวี) เทรลเบลเซอร์ Z71 ในงานบิ๊ก มอเตอร์ เซล 2017 ซึ่งเป็นรุ่นท็อปที่ถูกปรับปรุงหน้าตาและเพิ่มออพชัน ขายราคา 1.499 ล้านบาท
นายวันชนะ อูนากูล ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายวิศวกรรม เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เซกเมนต์เอสยูวีได้รับความนิยมมากขึ้น สวนทางกับการชะลอตัวของตลาดรถซีดานแบบดั้งเดิม ซึ่ง “เทรลเบลเซอร์ Z71” จะตอบสนองต่อทิศทางดังกล่าว ด้วยการเป็นเอสยูวีที่เหนือกว่าความคาดหมายของลูกค้า หรือยกระดับรถที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
เทรลเบลเซอร์ Z71 ออกแบบภายนอกเฉียบคม การตกแต่งภายในหรูหรา พร้อมสมรรถนะเครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตร เทอร์โบแปรผัน 180 แรงม้า ปรับปรุงแชสซีส์ใหม่ เพิ่มเทคโนโลยีและความปลอดภัย และได้นักร้องดัง “ฮิวโก้”-จุลจักร จักรพงษ์” มาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์
ด้านฟอร์ด ที่สถาน การณ์ในเซ็กเมนต์รถยนต์นั่งซบเซาอย่างต่อเนื่อง ทั้งคอมแพ็กต์คาร์ “โฟกัส” และซับคอมแพ็กต์ “เฟียสต้า” โดยยอดขายครึ่งปีแรกทำได้ 257 คัน และ 99 คัน ตามลำดับ โดยในภาพรวมของเซ็กเมนต์คอมแพ็กต์คาร์ในช่วง 4-5 ปีหลัง มีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์นั่งลดลง เป็นผลมาจากความนิยมในรถประเภทเอสยูวีเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคยังมีทางเลือกที่หลากหลายจากรถซับคอมแพ็กต์และอีโคคาร์
ขณะที่เจ้าตลาด “ฮอนด้า ซีวิค” (2,200 คัน/เดือน) “โตโยต้า อัลติส” (1,400 คัน/เดือน) และ “มาสด้า3” (450 คัน/เดือน) ถือว่าแข็งแกร่ง และมีการแข่งขันที่สูงอยู่แล้ว จึงยากที่ “ฟอร์ด โฟกัส” จะเบียดแทรกไปได้มากกว่านี้
ส่วนเฟียสต้า ที่อยู่ในช่วงปลายโมเดลยอดขายลดลงเรื่อยๆตามไลน์อัพในการทำตลาดที่เหลือเพียงตัวถังแฮตช์แบ็ก เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร รุ่นเดียว ทั้งยังโดนผลกระทบจากการรวมตัวร้องเรียนของลูกค้าถึงคุณภาพของรถ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของแบรนด์
“ยอดขายในกลุ่มรถยนต์นั่งของฟอร์ด โดนผลกระทบส่วนหนึ่งมาจากเฟียสต้าที่ลูกค้าร้องเรียน ส่วนเฟียสต้า โฉมใหม่ (โมเดลเชนจ์ที่เปิดตัวในตลาดโลกแล้ว) จะมีหรือไม่มีนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้”
[caption id="attachment_118394" align="aligncenter" width="503"]
ณรงค์ สีตลายน[/caption]
นายณรงค์ สีตลายน รองกรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทยกล่าวในงานแถลงข่าวล่าสุด (9 ส.ค. 60) ทั้งนี้ ฟอร์ดยังได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ เฟส2 ที่บีโอไอกำหนดว่าต้องเริ่มลงทุนภายในปี 2562 นั้นเท่ากับว่าฟอร์ดยังพอมีเวลาในการตัดสินใจว่า จะลุยตลาดรถยนต์นั่งในเมืองไทยหรือใช้เป็นฐานการผลิตหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากฟอร์ดตัดสินใจเดินหน้าในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ตามที่ได้รับการอนุมัติจริง รถยนต์รุ่นใหม่อาจจะไม่ได้อ้างอิงกับเฟียสต้า ที่ทำตลาดในยุโรป หรือมีโอกาสเป็น Regional Model ที่ทำขึ้นมาใหม่สำหรับตลาดภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยเฉพาะ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560