เปิดผลการศึกษาโครงการ “รถไฟความเร็วสูง” เชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าลงทุน 3.02 แสนล้านบาท ให้เอกชนร่วมลงทุน ... รัฐอุดหนุนเงินระยะยาวผุด 10 สถานีรองรับ พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง ออกแบบให้รองรับระบบตั๋วร่วม คาดเปิดดำเนินการ ปี 2566 รับผู้โดยสาร 1.69 แสนคน/วัน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,292 วันที่ 31 ส.ค. - 2 ก.ย. 2560 รายงานว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 มอบให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นหน่วยงานหลัก เร่งศึกษาระบบรางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยง 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง และอู่ตะเภา ให้แล้วเสร็จ
[caption id="attachment_136511" align="aligncenter" width="503"]
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. ได้รายงานผลการศึกษาให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน รับทราบแล้ว เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณารับทราบต่อไป
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับผลการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ สรุปได้ว่า จะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร เพิ่มเติม 2 ช่วง คือ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง และช่วงลาดกระบัง-ระยอง พร้อมทางรถไฟเชื่อมเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 260 กิโลเมตร
โดยจะมีสถานีรถไฟความเร็วสูง จำนวน 10 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง, บางซื่อ, มักกะสัน, สุวรรณภูมิ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ศรีราชา, พัทยา, อู่ตะเภา และระยอง ซึ่งการเดินรถในพื้นที่เขตเมือง ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และเดินรถระหว่างเมือง ช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง ด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนใหญ่ก่อสร้างเป็นทางรถไฟยกระดับ 2 ทางวิ่ง
ขณะที่ “ทางรถไฟ” ออกแบบให้รองรับน้ำหนักกดเพลาได้ 16 ตัน ทางรถไฟหลักจะใช้ทางรถไฟแบบพื้นคอนกรีต โดยจะมีศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง คือ คลองตัน รองรับรถไฟ City Line และศูนย์ซ่อมบำรุงใหม่ที่ฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ รองรับรถไฟความเร็วสูง
ส่วนระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ออกแบบให้รองรับระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม) ซึ่ง “ตู้รถไฟความเร็วสูง” เปิดให้ผู้ลงทุนเลือกระหว่างรถไฟลำตัวแคบและรถไฟลำตัวกว้าง แต่ต้องรองรับความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง จัดรูปขบวนได้แบบ 8 คัน/ขบวน มีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 30 ปี
ทั้งนี้ ระยะเวลาการเดินทางจากดอนเมืองถึงระยอง กรณีหยุดทุกสถานีประมาณ 2 ชั่วโมง และกรณีด่วนพิเศษ ไม่จอดระหว่างทาง ประมาณ 1 ชั่วโมง มีอัตราค่าโดยสาร City Line 13 บาท (แรกเข้า) + 2.0 บาท/กิโลเมตร และค่าโดยสาร HSR 20 บาท (แรกเข้า) + 1.8 บาท/กิโลเมตร
นอกจากนี้ ในผลการศึกษายังระบุว่า ประมาณการผู้โดยสาร คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารเปิดให้บริการปี 2566 ที่จะเดินทางภายในกรุงเทพฯ ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ประมาณ 103,920 คน ต่อเที่ยว/วัน และที่เดินทางระหว่างจังหวัด ช่วงสุวรรณภูมิ-ระยอง ประมาณ 65,630 คน ต่อเที่ยว/วัน รวมทั้งสิ้น 169,550 คน ต่อเที่ยว/วัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 362,410 คน ต่อเที่ยว/วัน ในอนาคต
สำหรับเงินลงทุนโครงการ จะแบ่งเป็นส่วนรถไฟความเร็วสูง 220,608 ล้านบาท และส่วนการพัฒนาพื้นที่มักกะสันและการพัฒนาที่ดินรอบสถานี (TOD) 82,113 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 302,721 ล้านบาท การลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP1 Net Cost โดยเอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ ค่าจ้างที่ปรึกษา และการดำเนินงานและซ่อมบำรุง รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ โดยรัฐจะทยอยให้การอุดหนุนเงินดำเนินงานโครงการเป็นรายปีในระยะยาว ในอัตราที่สอดคล้องกับกำลังงบประมาณของรัฐ