คลังถอย! รื้อใหม่ “ภาษีที่ดิน” ผ่อนผันบ้าน-อาคารพาณิชย์ เซ้ง 30 ปี อยู่ในข่ายอยู่อาศัย เพดาน 0.5% เดิมโขก 2% ... ส่วนพักรายวันฟันเต็ม ๆ เอสเอ็มอีได้อานิสงส์ด้วย หวังช่วยผู้มีรายได้น้อย คาดโยน กมธ. ไฟเขียว ไม่เกิน 30 ก.ย. นี้
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3-6 ก.ย. 2560 รายงานว่า สร้างความสับสนปั่นป่วนไปทุกประเภทกิจการ สำหรับ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่กระทรวงการคลังเตรียมประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2562 โดยเฉพาะ “ธุรกิจบ้านเช่า” ที่ถูกผลักให้อยู่ในหมวดพาณิชยกรรม เสียภาษีเพดานสูงสุด 2% แต่ในทางปฏิบัติแล้ว “ผู้รับเคราะห์ คือ ผู้เช่า” ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้หาทางออกสะท้อนปัญหา เพื่อเร่งแก้ไขก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้
แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อเรียกร้องดังกล่าว ล่าสุด สศค. ได้พิจารณาปรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่เพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ด้วยการผ่อนผันประเภทอาคารเช่าเซ้ง 30 ปี ให้อยู่ในข่ายที่อยู่อาศัย เสียภาษีต่ำสุด 0.03% เพดานสูงสุด 0.5% จากเดิมเสียภาษีเพดานสูงสุด 2% ตามประเภทพาณิชยกรรม ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่กลับต้องแบกรับภาระภาษีที่แทรกอยู่ในค่าเช่าจากเจ้าของอาคาร
ขณะเดียวกัน ยังผ่อนผันอาคารเช่าเพื่ออยู่อาศัย หากทำสัญญากับผู้เช่าตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปีขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นอาคารเช่าประเภทที่อยู่อาศัย หากอายุสัญญาเช่าต่ำกว่าที่กล่าวมา ให้อยู่ในข่ายพาณิิชยกรรม อย่างไรก็ดี ระยะเวลายังไม่ได้ข้อยุติว่า จะเลือกสัญญาเช่าตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป, 1 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีขึ้นไป แต่ความน่าจะเป็นน่าจะอยู่ที่ 1 ปีขึ้นไป มองว่าน่าจะเหมาะสม
เมื่อสอบถามว่า “หอพักและอพาร์ตเมนต์” จะอยู่ในข่ายยกเว้นด้วยหรือไม่ เพราะระยะเวลาการเช่าแต่ละรายไม่แน่นอน มีการย้ายเข้าออกตลอดเวลา แหล่งข่าวระบุว่า ต้องดูที่เจตนาของเจ้าของอาคารว่า หากทำสัญญาเช่านาน ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หรือ 1 ปีขึ้นไป ก็จะเสียภาษีอัตราที่อยู่อาศัย
ส่วนห้องพักรายวันที่ทำรูปแบบโรงแรม ต้องเสียประเภทพาณิชยกรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งอาคารชุดด้วย ส่วนกลุ่มที่เช่าบ้าน-คอนโดมิเนียมอยู่อาศัยจากเจ้าของเดิม แต่กลับนำไปปล่อยให้เช่าช่วงต่อ เชื่อว่า จะมีการตรวจสอบจากคนในพื้นที่ว่า “บ้านเช่า” หรือ “ห้องเช่า” ดังกล่าว ปล่อยเช่าช่วงจริงหรือไม่ หากพบ สามารถร้องเรียนมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อตรวจสอบได้ และเรียกเก็บภาษีในอัตราพาณิชย์ต่อไป ส่วน “โรงแรม” จะเสียภาษีประเภทพาณิชย์เช่นเดิม เพราะไม่ปรากฏว่า มีคนเช่าโรงแรมเพื่อพักอาศัยระยะยาวนานถึง 30 ปี
“ได้พิจารณากลุ่มอาคารอยู่อาศัยสำหรับเช่าไว้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเซ้ง 30 ปี, กลุ่มเช่า 5-10 ปี และกลุ่มเช่าระยะสั้น ซึ่งมีตัวเลขทั่วประเทศที่สูงมาก หลายสิบล้านอาคารทั่วประเทศ”
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี จะยังคงอยู่ในหมวดพาณิชยกรรม แต่จะพิจารณาลดหย่อนให้ เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ได้สรุปว่า ตัวเลขจะออกมาที่เท่าใดจึงเหมาะสม เนื่องจากมีการร้องเรียนจำนวนมาก ตั้งแต่ ปั๊มน้ำมัน, ร้านอาหาร และกิจการเล็ก ๆ ที่เพิ่งเริ่มต้น ส่วนการใช้อาคารรูปแบบมิกซ์ยูส เช่น ชั้นล่างเป็นร้านโชวห่วย ชั้น 2 และชั้น 3 เป็นที่อยู่อาศัย ก็จะเสียภาษีตามพื้นที่ที่ใช้งาน เช่น ชั้นล่าง 20 ตารางเมตร ทำโชวห่วยก็คำนวณภาษีประเภทพาณิชย์ ส่วนชั้น 2-3 จะเสียภาษีอัตราที่อยู่อาศัยตามขนาดพื้นที่ใช้สอยเช่นกัน อย่างไรก็ดี จะสรุปตัวเลขเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ. ให้ทันก่อนวันที่ 30 ก.ย. 2560 ที่จะพิจารณาวันสุดท้าย
นายอธิป พีชานนท์ กรรมการบริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ระบุบนเวทีสัมมนาวิชาการ เรื่อง : เจาะลึกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา โดยได้สอบถาม นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. ว่า “การตีความ ‘ประเภทบ้านเช่า’ ที่จะผ่อนผันจากประเภทพาณิชย์ให้อยู่ในหมวดที่อยู่อาศัย ระยะเวลาควรอยู่ที่ 1 ปีขึ้นไป ใช่หรือไม่?” ซึ่งก็ได้รับคำตอบสั้น ๆ จากนายพรชัย พยักหน้ารับว่า “ใช่” ขณะที่ การใช้พื้นที่แบบมิกซ์ยูส ทั้งพักอาศัยและการค้าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งมองว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มอยู่อาศัย
อย่างไรก็ดี นายอธิป ย้ำว่า จะรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะจากสมาชิกสมาคมทั่วประเทศ จ้างมหาวิทยาลัยหอการค้าศึกษาข้อเสนอของภาคเอกชนและเปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของ กมธ. พิจารณาร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไป ก่อนผ่านไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ด้าน นายพรชัยจาก สศค. ระบุว่า ที่ผ่านมา ภาษีที่ดินไม่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด กลับกันเจ้าของที่ดินจะได้รับความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ ตัวเลขการจัดเก็บภาษียังต่ำ อย่าง ที่อยู่อาศัย เพียง 0.03% แต่เพดานภาษีจะกำหนดไว้ให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ แต่ไม่เกินเพดาน 0.5% เชื่อว่า ไม่มีพื้นที่ไหนเรียกเก็บเต็มเพดาน
ขณะที่ นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า จะเสนอให้กระทรวงการคลังและ กมธ. ปรับลดอัตราภาษีที่สูงเกินไปให้ลดต่ำลงมา เพื่อความเหมาะสม และลดผลกระทบกับเจ้าของที่ดิน
นายเสริมชัย ผู้ร่วมเข้าฟังสัมมนาเจาะลึกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ระบุว่า มีที่ดิน 200 ไร่ ที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งปัจจุบันทำการเกษตร โดยมองว่า การทำเกษตรจะเสียภาษีที่ดินต่ำที่สุด แต่ในภาพรวมเชื่อว่า จะกระทบกับเจ้าของที่ดิน เพราะจากไม่เคยเสีย ก็จะเสียทั้งหมด
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3-6 ก.ย. 2560