“คณิศ” ปลื้มผลงานขับเคลื่อนอีอีซี 5 เดือน ได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างทั้งด้านนโยบายและการลงทุนของเอกชน คาดปลายปีเปิดทีโออาร์ 4 โครงการหลัก ให้เอกชนร่วมลงทุนได้ พร้อมเตรียมเสนอกฎหมายอีอีซี เข้าครม.ได้ภายในก.ย.นี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เปิดเผยถึงการดำเนินงานในรอบ 5 เดือน ที่ผ่านมาว่า จากรัฐบาลได้มีนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยมีการจัดตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) ขึ้นมาดูแล จากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้อนุมัติกรอบการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญกว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
[caption id="attachment_183607" align="aligncenter" width="503"]
คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]
พร้อมทั้ง ออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน(พีพีพี) เพื่อลดขั้นตอนการพิจารณา 4 โครงการหลักให้เหลือเพียง 8-10 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเปิดทีโออาร์ได้ในช่วงปลายปีนี้ และจะเริ่มประมูลได้ในช่วงต้นปี 2561
นอกจากนี้ ในด้านความคืบหน้าของนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2560 จากการติดตามความคืบหน้า พบว่าอยู่ระหว่างติดตามและเจรจาต่อรองกับนักลงทุน ได้แก่ กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ BMW FOMM นิสสัน กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น จีอี หัวเว่ย ซัมซุง กลุ่มอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร เช่น ฟูจิฟิล์ม และ Otsuka กลุ่มอี-คอมเมิร์ซ เช่น อาลีบาบากรุ๊ป กลุ่มอากาศยาน เช่นแอร์เอเชีย ST Aerospace โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดด้านการลงทุน ภายใต้การวิเคราะห์การลงทุน ที่คาดว่าจะมีการลงนามเอ็มโอยูในเดือนมีนาคม 2561 ได้แก่ โบอิ้ง และแอร์บัส
อีกทั้งมีนักลงทุนที่แสดงความสนใจจะลงทุนและอยู่ภายใต้การเจรจาต่อรองในชั้นสุดท้าย เช่น กลุ่มลาซาด้า กรุ๊ป ส่วนกลุ่มที่พร้อมลงทุนในอีอีซีแล้วเช่น โตโยต้า ที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมผลิตรถยนต์ไฮบริดไปแล้ว
ขณะที่สถานการณ์ด้านการลงทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีนักลงทุนได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี คิดเป็นมูลค่า 2.34 หมื่นล้านบาท โดยเป็นในส่วนของการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายถึง 1.42 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและระยอง 160 โครงการ
นายคณิศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศ นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเกิดการลงทุนผ่านมาตรการส่งเสริมของบีโอไอในปีนี้ได้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท
อีกทั้ง คณะกรรมการนโยบายฯ ยังได้ประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอลหรืออีอีซีดี ซึ่งทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน เช่น บริษัท ไมโครซอฟท์ฯ อเมซอน ไอบีเอ็ม และซีเลสทิคา ที่คาดว่าจะมีการลงนามกันได้ภายในเดือนกันยายนนี้ รวมถึงการประกาศเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ เป็นเขตส่งเสริมที่อยู่ระหว่างการขอเช่าพื้นที่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่ดำเนินการพัฒนา
ขณะที่พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือกฎหมายอีอีซีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกาซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ครม.อนุมัติอีกครั้งได้ในเร็วๆนี้ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช. ต่อไปไม่เกินต้นเดือนกันยายน 2560
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560