“ฟอร์ด-โฟล์ค” ถอยอีโคคาร์ 2 สูญ 6 หมื่นล้าน!

02 ก.ย. 2560 | 09:56 น.

“ฟอร์ด” และ “โฟล์คสวาเกน” เดินตามรอย “จีเอ็ม” ใส่เกียร์ถอยอีโคคาร์ มูลค่ากว่า 60,000 ล้าน ... วงในชี้! ล้มแผนผลิตชัดเจน หลังประสบปัญหาทำตลาดรถขนาดเล็กในไทยสู้ค่ายญี่ปุ่นไม่ได้ ส่งออกลำบาก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293 วันที่ 3-6 ก.ย. 2560 รายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดใหญ่บีโอไอ เห็นชอบให้ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รุ่นที่ 2 หรือ “อีโคคาร์ 2” กำหนดระยะเวลาในการยื่นขอส่งเสริมภายในวันที่ 30 มี.ค. 2557 โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมจะต้องเริ่มดำเนินการผลิตภายในปี 2562 ซึ่งอีโคคาร์ 2 เปิดให้ผู้ผลิตอีโคคาร์ รุ่นที่ 1 ที่ได้รับการส่งเสริมไปแล้วทั้ง 5 ราย สามารถมายื่นขอรับการส่งเสริมอีโคคาร์ รุ่นที่ 2 ด้วย แต่จะต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากค่ายรถยนต์อเมริกัน จนล่าสุดมีความชัดเจนจาก “ฟอร์ด มอเตอร์ ประเทศไทย” แล้วว่า อีโคคาร์ไม่อยู่ในแผนธุรกิจของฟอร์ด ซึ่งก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยศึกษาแผนงานในการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กในประเทศไทย เพื่อรองรับตลาดภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยเฉพาะ ซึ่งรถยนต์โมเดลใหม่นี้จะสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ต่ำกว่าเก๋งรุ่น “เฟียสต้า” ที่เป็นรถขายดีในยุโรป

สอดคล้องกับที่ล่าสุดเป็นที่ชัดเจนว่า ฟอร์ดถอยการผลิตรถอีโคคาร์ ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมไปเมื่อปี 2557 เพราะตามขั้นตอนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เมื่อค่ายรถยนต์ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 แล้ว ต้องเข้ามาออกบัตรส่งเสริมภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ได้รับการส่งเสริม และสามารถต่อเวลาได้อีก 1 ปี ซึ่งฟอร์ดพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว


“ฟอร์ดไม่เข้ามาออกบัตรส่งเสริมตามที่บีโอไอเปิดระยะเวลาเอาไว้ถึงปีครึ่ง ก็ต้องยกเลิกขอส่งเสริมการลงทุนไปอย่างแน่นอนแล้ว” แหล่งข่าว กล่าว


ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเคยประกาศว่า มี 10 ค่ายรถยนต์ ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ประกอบด้วย โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, มิตซูบิชิ, ซูซูกิ (5 รายเดิม ที่ได้อีโคคาร์ รุ่น 1) และมาสด้า, เอ็มจี, ฟอร์ด, เจนเนอรัล มอเตอร์ส, โฟล์คสวาเกน (5 รายใหม่ ที่ขอส่งเสริมอีโคคาร์ รุ่น 2)

25877

โดย “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” หรือ “จีเอ็ม” ประกาศถอนตัวในโครงการดังกล่าวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตามการปรับโครงสร้างธุรกิจในอาเซียนใหม่ ล่าสุด มีรายงานว่า “โฟล์คสวาเกน” ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี จะไม่เดินหน้าต่อในโครงการอีโคคาร์เช่นเดียวกับฟอร์ด

อย่างไรก็ตาม แพ็กเกจการลงทุนในโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ที่ “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” เคยประกาศไว้ คือ ลงทุน 1.31 หมื่นล้านบาท กำลังผลิต 1.58 แสนคัน/ปี, ฟอร์ด 1.8 หมื่นล้านบาท กำลังผลิต 1.8 แสนคัน/ปี และโฟล์คสวาเกนประมาณ 30,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อรวมเงินลงทุนที่หายไปจาก 3 ค่ายรถยนต์ ที่เคยเสนอแพ็กเกจต่อบีโอไอ รวมแล้วประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากค่ายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน ฟอร์ดขายดีมากในอเมริกา แต่ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ขนาดเล็กในประเทศไทย โดยเฉพาะ “เฟียสต้า” ทำให้ฐานการผลิตในไทยส่วนใหญ่เน้นไปที่ตลาดส่งออก

“ที่น่าจับตามองในเวลานี้ คือ บีโอไอได้ติดตามหรือไม่ว่า อีโคคาร์ เฟส 1 นั้น ล่าสุด ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมแต่ละค่ายสามารถผลิตได้ตามเพดานที่ได้รับการส่งเสริมหรือไม่ อีกทั้ง นโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมอีโคคาร์ เฟส 2 สรุปว่า เมื่อถึงเวลาจะมีค่ายไหนผลิตได้จริงหรือบ้าง เพราะบางค่ายก็หันไปให้น้ำหนักกับรถไฮบริด”


e-book