ตะลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย (9)

10 ก.ย. 2560 | 23:05 น.
TP07-3295-1A วันนี้ตื่นขึ้นมาแต่เช้า สิ่งแรกที่ทำคือ รีบเดินออกไปที่ระเบียงห้องพักโรงแรม Mandalay Hill Resort เพื่อจะดูภาพของเมืองมัณฑะเลย์ในมุมสูง เพราะเมื่อคืนตอนเข้าพักพวกเรามาถึงค่อนข้างดึกเลยมองไม่เห็นมัณฑะเลย์ เพราะมัวแต่อร่อยอยู่กับอาหารไทยที่ร้าน “ต้มยำกุ้ง” แล้วก็ไม่ผิดหวัง

ขอบอกว่าเมืองมัณฑะเลย์นี่สวยงามมาก มองไปด้านล่างก็เห็นต้นไม้เขียวชอุ่มเป็นป่ากลางเมืองเลยทีเดียว เมื่อมองไกลออกไปก็เห็นพระราชวังมัณ ฑะเลย์อันสวยงาม wล้อมรอบด้วยเนินเขาเป็นแนวยาว ซึ่งก็คือ มัณฑะเลย์ฮิลล์ เนินเขากลาง เมืองมัณฑะเลย์นั่นเอง

มัณฑะเลย์ฮิลล์ เป็นเนินเขาที่มีความสูงประมาณ 236 เมตร เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม สามารถมองเห็นเมืองมัณฑะเลย์ได้ทั้งเมือง มองขึ้นไปบนเนินเขาก็เห็นมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “ชเวยัตตอ” ชี้พระหัตถ์ไปทางพระราชวังมัณฑะเลย์ด้านล่าง พระพุทธรูปดังกล่าวชาว เมียนมาเรียกว่า “ปางพยากรณ์” แต่หนนี้ผมไม่ได้มาทัวร์ท่องเที่ยวก็เลยไม่ได้ปีนมัณฑะเลย์ฮิลล์ขึ้นไปกราบพระองค์ดังกล่าว

ได้เวลาเช็กเอาต์จากโรง แรม คณะของเราก็ออกเดินทางเพื่อมุ่งหน้าต่อไปบนทางหลวงไตรภาคีเส้นนี้ จุดหมายต่อไปของเราคือ เมืองกาเลเมียว ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 485 กิโลเมตร จะต้องใช้เวลาประมาณ 12-13 ชั่วโมง เนื่องจากยังอยู่ในช่วง
ฤดูฝนและเส้นทางอยู่บนภูเขาที่ลาดชัน อย่างไรก็ตาม ไหนๆ ก็มาถึงเมืองมัณฑะเลย์แล้ว แต่มีเวลาไม่มากนัก ก็เลยแค่ขับรถสำรวจเมืองมัณฑะเลย์อย่างรวดเร็ว และเราก็พบว่าเมืองมัณฑะเลย์นี่น่าสนใจมากในแง่เศรษฐกิจ
เมืองมัณฑะเลย์ที่เราเห็นเป็นเมืองที่คึกคักไม่แพ้กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงเลย มีรถราวิ่งกันขวักไขว่ และที่เห็นได้ชัดก็คือ มีรถมอเตอร์ไซค์ขับกันเยอะมาก ต่างจากกรุงย่างกุ้งซึ่งห้ามขับรถมอเตอร์ไซค์เข้าไปในเมือง นอก จากนั้นร้านรวงต่างๆ ก็มีอยู่เยอะและดูคึกคัก โดยเมือง มัณฑะเลย์ เป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญของไทยที่ขนส่งผ่านมาทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามเส้นทางที่คณะของเราเดินทางมานี่แหละครับ

TP07-3295-2A แต่ที่สำคัญกว่านั้นและทำให้มัณฑะเลย์เป็นเมืองที่มีโอกาสและศักยภาพอย่างมากก็คือ ที่ตั้งของเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศและเป็น “สามแยก” ที่เส้นทางเชื่อมโยงจากจีน อินเดีย และไทยมาพบกันพอดี เมืองมัณฑะเลย์จึง ถูกจับตามองอย่างมากในฐานะศูนย์กลางการค้าการลงทุนสำคัญในการเชื่อมโยงกับจีนและอินเดีย และทำให้เมียนมามีโอกาสที่จะดึงดูดการลงทุนได้จากทั้ง 2 ประเทศ ในแง่การดึงดูดการลงทุนจากอินเดีย เมียนมาก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดีย ที่เมียนมาจะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอาเซียน และในแง่การดึงดูดการลงทุนจากจีน เมียนมาก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) ของจีนอีกด้วย

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคาร เพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank มองว่าการเชื่อมโยงดังกล่าวจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยหลายประการผ่าน 1) เส้นทางการค้าใหม่ (New Trade Route) เพื่อเจาะตลาดจีนและอินเดีย 2) ฐานการผลิตแห่งใหม่ (New Production Base) เพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดจีนและอินเดีย 3) แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ (New Tourist Destination) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร

นอกจากนั้น มัณฑะเลย์ยังมีความพร้อมของระบบโครง สร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุน โดยเฉพาะการมีโครงข่ายคมนาคมทางบกและทางนํ้าเชื่อมสู่เมืองย่างกุ้ง รวมทั้งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สนามบินหลักของเมียน มา และภายใต้แผนพัฒนาเครือข่ายคมนาคมแห่งชาติของเมียน มายังมีโครงการยกระดับเส้นทางรถไฟสายมัณฑะเลย์-เนปิดอว์-ย่างกุ้ง ซึ่งจะทำให้การเดินทางด้วยรถไฟระหว่างเมืองมัณฑะเลย์ และเมืองย่างกุ้งลดเวลาลงจาก 16 ชั่วโมงในปัจจุบันเหลือเพียง 8 ชั่วโมง เมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 รวมถึงยังมีอีกหลายโครงการที่เชื่อมเมืองมัณฑะเลย์สู่เมืองสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะเมืองชายแดนที่เป็นประตูการค้าสำคัญ

จากข้อมูลของ EXIM Bank พบว่าปัจจุบันนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยเริ่มเข้าไปขยายการลงทุนในเมืองมัณฑะเลย์แล้ว โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรมมัณฑะเลย์ (Mandalay Industrial Zone) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมัณฑะเลย์ มีโครงการลงทุนมากกว่า 1,200 โครงการ อาทิ ธุรกิจเกษตรแปร รูปเฟอร์นิเจอร์ไม้ ถลุงเหล็ก อาหาร และเครื่องดื่ม ขณะที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจผลิตอาหารสัตว์และธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร

นอกจากนี้การลงทุนในมัณฑะเลย์ ยังมีแต้มต่อจากการมีต้นทุนโดยเฉพาะค่าเช่าที่ดินและค่าสาธารณูปโภค ที่ตํ่ากว่าเมืองย่างกุ้งประกอบกับการแข่งขันยังไม่รุนแรงนัก นักลงทุนไทย ควรใช้โอกาสนี้ในการเข้าไปขยายการค้าการลงทุนในช่วงที่เมือง มัณฑะเลยกำลังเติบโต พร้อมทั้งใช้จุดแข็งของเมืองมัณฑะเลย์ในการเป็น Super Gateway เชื่อมโยงการค้าการลงทุนไปยังตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย

ในตอนหน้าคณะเราจะนำ ท่านผู้อ่านออกจากเมืองมัณฑะเลย์ มุ่งหน้าต่อไปยังเมืองกาเลเมียว ผ่านเส้นทางผจญภัยบนป่าเขาด้วย ความระทึกใจ...โปรดติดตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,295 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2560