“พล.อ.อกนิษฐ์” ยันร่างพ.ร.บ.นํ้าฯเสร็จทันกำหนด 27 ต.ค.นี้ เวทีรับฟังความคิดเห็นร้อนฉ่า หวั่นผู้ว่าฯผูกขาดเป็นประธานลุ่มนํ้า ผู้เลี้ยงกุ้งโอดแบกต้นทุนค่านํ้า 800 บาท/ไร่ ทีดีอาร์ไอเชียร์เก็บค่านํ้าให้เกษตรกรประหยัด
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ระหว่างการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สำหรับลุ่มนํ้าท่าจีนและลุ่มนํ้าแม่กลอง ว่า ร่างฯดังกล่าวนี้ได้มีการพิจารณาแล้ว 81 มาตรา จากทั้งหมดมี 9 หมวด 100 มาตรา โดยระหว่างนี้จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนควบคู่กันไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 3 ครั้ง ใน 3 จังหวัดได้แก่ พะเยา ลพบุรี และขอนแก่น
ร่างพ.ร.บ. นี้มีเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าของทั้งประเทศ จากที่ผ่านมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรนํ้าทั้งหมด 42 หน่วยงาน มีพ.ร.บ. พระราชกำหนด กฎกระทรวงอนุบัญญัติ และประกาศที่เกี่ยวข้องมากมาย (ดูกราฟิกประกอบ) มีวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้และการแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง หรือดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเฉพาะ ซึ่งบางส่วนยังมีความทับซ้อนไม่เชื่อมโยงกัน และยังมีช่องว่างไม่ครอบคลุมในทางปฏิบัติ
“คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จทันตามกำหนดในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ส่วนการเก็บค่านํ้าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทางคณะ กมธ. ได้ข้ามพิจารณามาตรานี้ออกไปก่อน โดยจะไม่มีการเก็บค่านํ้าเกษตรกรรายย่อย แต่จะพิจารณาเก็บค่านํ้าที่ใช้ในภาคธุรกิจต่างๆ อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้จะไม่สร้างความเดือดร้อน จะให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน”
ขณะที่ในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่สมุทรสงครามมีแกนนำในลุ่มนํ้าต่าง ๆ ได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ กรณีลุ่มนํ้าที่ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา 19 จังหวัด ลุ่มนํ้าท่าจีน 13 จังหวัด มีข้อสังเกตว่าจะดูแลอย่างไรให้ทั่วถึง ที่สำคัญประธานแต่ละลุ่มแม่นํ้าในกฎหมายฉบับนี้ระบุ ให้ผู้ว่าฯของแต่ละลุ่มนํ้าเลือกกันเอง 1 คนมาเป็นประธาน เป็นการผูกขาด โดยที่ภาคส่วนอื่นๆ เช่น ผู้แทนลุ่มนํ้า ผู้แทนเกษตรกร ก็สามารถเป็นประธานได้ รวมทั้งในทางปฏิบัติผู้ว่าฯ มักมอบให้รองผู้ว่าฯประชุมแทน ซึ่งอาจไม่มีความรู้การบริหารจัดการนํ้า จากจะมาแก้ปัญหาอาจกลายเป็นผู้สร้างปัญหาหรือไม่
สำหรับการเก็บค่านํ้า ปัจจุบันบางลุ่มนํ้ามีการเก็บค่านํ้าเฉพาะพื้นที่ โดยเงินที่จัดเก็บได้จะนำไปใช้ในการบำรุงรักษา ระบบนํ้าในพื้นที่ แต่กฎหมายฉบับนี้ต้องนำรายได้เข้าคลังกลางเป็นรายได้แผ่นดิน เกรงจะไม่ตอบโจทย์ อยากเสนอให้ตั้งกองทุนในแต่ละลุ่มนํ้าบริหารกันเอง นอกจากนี้ยังมีประเด็นต่างๆ ที่ยังเป็นที่กังวล เช่นการคิดค่านํ้าคิดอย่างไร คำนวณการใช้นํ้าอย่างไร หากมีการตั้งมิเตอร์วัดการใช้นํ้าใครจะเป็นผู้จ่าย เป็นต้น
อีกด้านเป็นตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กล่าวว่า หากกฎหมายนี้ออกมา รัฐบาลคิดค่านํ้าอัตราตํ่าสุดที่ 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร ผู้เลี้ยงกุ้งใช้นํ้า 1 ไร่ จ่ายค่านํ้า 800 บาท แต่ถ้าใช้นํ้า 10 ไร่ต้องจ่ายถึง 8,000 บาท จากเดิมที่ไม่ต้องเสีย ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งเกษตรกรไม่มีกำลังที่จะจ่ายจึงขอความเห็นใจ
สอดคล้องกับนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการวิสามัญฯกล่าวว่า ความจริงอาชีพเกษตรเพื่อยังชีพ ไม่ควรจำกัดพื้นที่ไร่ หรือจำนวนปริมาณชนิดสัตว์ในการจัดเก็บค่านํ้า แต่ถ้าเป็นเกษตรพาณิชย์ ในเชิงธุรกิจส่วนตัวเห็นว่าควรต้องมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องจ่ายค่านํ้า อย่างนี้จะชัดกว่า เรื่องนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแยกความชัดเจนระหว่างเกษตรเพื่อยังชีพกับเกษตรพาณิชย์ต่อไป
เช่นเดียวกับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นว่า อาชีพเกษตร มีความเสี่ยงสูงทั้งภัยธรรมชาติ โรคระบาด และต้นทุนก็สูง ดังนั้นไม่เห็นด้วยที่จะเก็บค่านํ้าในภาคเกษตร ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่าในภาคเกษตรใช้นํ้าสิ้นเปลืองมากสุด เพราะนํ้าไม่มีราคา ไม่จูงใจที่จะใช้เทคโนโลยีในการจัดการนํ้า หรือเลือกปลูกพืชที่ใช้นํ้าน้อย ดังนั้น ควรเก็บค่านํ้าเพื่อให้เกษตรกรตระหนัก ประหยัดและรู้คุณค่านํ้ามากขึ้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560