ครม.เห็นชอบแก้ไขประมวลก.ม.แพ่งและพาณิชย์ส่งเสริมการจัดตั้ง startup

17 ต.ค. 2560 | 09:53 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2560 | 16:53 น.
(17 ต.ค. 60)นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)(17ตุลาคม2560) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ให้บริษัทจำกัดดำเนินการได้ในประเด็นหุ้นกู้แปลงสภาพ การทยอยให้หุ้น (Vesting) สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด (ESOP) และหุ้นบุริมสิทธิ์) และร่าง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ

"ที่ผ่านมากฎหมายเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งบริษัท startup ทำให้คนที่มีไอเดียหนีไปจดทะเบียนที่ประเทศสิงคโปร์กันหมด"

 

สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมใน 6 มาตรา คือ 1. แก้ไขเพิ่มเติมให้มีข้อยกเว้นสำหรับบริษัทจำกัด สามารถชี้ชวนให้ประชาชนซื้อหุ้นได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2.แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ถือหุ้นสามารถชำระค่าหุ้นโดยหักหนี้กับบริษัทได้สองกรณี คือ 2.1 กรณีทำตามมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และกรณีเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ 2.2 กรณีบริษัทปรับโครงสร้างหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน

primelo

3.แก้ไขเพิ่มเติมให้บุริมสิทธิ์ในหุ้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์เป็นหุ้นสามัญได้ 4.แก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทเป็นเจ้าของถือหุ้นตนเองได้ ในกรณีซื้อหุ้นคืนตามมติพิเศษของผู้ถือหุ้นในกรณีเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 5.แก้ไขเพิ่มเติมให้บริษัทสามารถเสนอหุ้นให้กับผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัท หรือเจ้าหนี้ของบริษัทได้ โดยไม่ต้องเสนอให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนได้ และ 6.แก้ไขเพิ่มเติมให้มีข้อยกเว้นให้บริษัทจำกัด สามารถออกหุ้นกู้ได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ส่วนร่าง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษ ในส่วนของการแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์เป็นหุ้นสามัญ

นายณัฐพร กล่าวต่อว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้มีแรงจูงใจเพราะสามารถได้รับส่วนแบ่งมากขึ้น เมื่อบริษัทเจริญเติบโต เพราะในระยะเริ่มแรกจะไม่มีกำไร และเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับผู้บริหารและพนักงาน

ทั้งนี้ให้ส่งสำนักงานกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป

e-book