สมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตรปิ๊งไอเดียรุก บ้านประชารัฐ รูปแบบบ้านลูกกตัญญู สนองความต้องการ 3เจเนอเรชันสร้างสังคมไทยให้ยั่งยืน ธอส.สนับสนุนโครงการก่อนเร่งเสนอรัฐเคาะเจ้าภาพเร่งผลักดัน ส่วนการจัดหาที่ดินมีทั้งใช้ที่ดินของรัฐและผู้สนใจบริจาคทั่วไป เล็งสร้างในเขตตจว.ก่อนขยายสู่พื้นที่ในเขตเมือง
นายอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากกรณีที่รัฐบาลสนใจและเร่งผลักดันโครงการประชารัฐนั้นทางสมาคมจึงนำเสนอโครงการบ้านประชารัฐ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยรูปแบบบ้านลูกกตัญญู ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ประชาชนสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยได้ตามศักย ภาพของแต่ละคน แต่ละครอบครัว
โดยเบื้องต้นนั้นจะเป็นบ้านที่มีขนาดพื้นที่เพิ่มมากกว่าบ้านครอบครัวเดี่ยว แต่จะต้องสามารถรองรับคุณพ่อ คุณแม่ ลูกๆ ให้เข้ามาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมานั้นคนรุ่นใหม่จะนิยมออกไปสร้างครอบครัวใหม่ ส่งผลให้ลูก หลานไม่ได้รับความอบอุ่น เพราะไม่มีผู้ใหญ่คอยสั่งสอนแนะนำ จึงมีแนวคิด “บ้านลูกกตัญญู” เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้ลูก หลาน ได้เข้ามาร่วมอยู่ในครอบครัวที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมของครอบครัวไทยให้เกิดความอบอุ่น ช่วยลดปัญหาครอบครัวได้ไม่มากก็น้อย
การศึกษาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี รูปแบบความสุขในทุกช่วงวัย แก่ผู้สูงอายุในครอบครัว แก่ลูก หลาน ให้เกิดความอบอุ่น ปลอดภัย และยังสามารถสร้างสำนึกรักชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ภาครัฐสามารถจัดหาที่ดินไปดำเนินโครงการจากที่ดินของภาครัฐก่อนเป็นการนำร่อง นอกจากนั้นยังสามารถจัดหาที่ดินในเขตต่างจังหวัดก่อน เนื่องจากที่ดินยังราคาไม่แพง และสร้างชุมชนเมืองในชนบทให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังอาจจะมีผู้เห็นความสำคัญของโครงการอาจจะบริจาคที่ดินให้ภาครัฐนำไปพัฒนาโครงการได้อีกทางหนึ่งด้วย
ล่าสุดนั้นยังได้เข้าหารือร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์เพื่อนำเสนอรูปแบบของโครงการเพื่อให้ธนาคารเข้ามาร่วมสนับสนุนสินเชื่อในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อมีส่วนร่วมผลักดันโครงการดังกล่าวนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเร็วต่อไป โดยได้รับการตอบรับจากผู้บริหารธนาคารเป็นอย่างดีและเล็งเห็นถึงความมีคุณค่าของโครงการ
ดังนั้นหากจะดำเนินโครงการในต้นทุนที่ถูกลง จึงจะต้องเกิดจากความร่วมมือกันหลายฝ่าย อาทิ การจัดหาที่ดิน ปัจจุบันยังพบว่ามีเศรษฐีมอบที่ดินให้แก่ภาครัฐนำไปพัฒนาโครงการต่างๆ หรือประสงค์จะยกให้ฟรี หรือรูปแบบการยืมใช้ในระยะยาว ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น หรือรูปแบบการเช่าระยะยาว 30 ปี ดังนั้นต้นทุนที่ดินจึงหายไปได้แล้วเกือบครึ่ง วัสดุเป็นราย การต่อมาซึ่งเชื่อว่าค่ายวัสดุรายใหญ่คงจะเล็งเห็นคุณค่าของโครงการอีกด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีข้อมูลว่าบริษัทวัสดุชั้นนำได้ทำกิจกรรมซีเอสอาร์ปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาท หากสามารถแบ่งมาเป็นกรณีการสร้างที่อยู่อาศัยคงจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทต่างๆ อาจจะสนับสนุนวัสดุ โดยไม่ได้เป็น เงินก็ทำได้ทั้งสิ้น นั่นคือต้นทุนลำดับที่ 2 ก็จะลดลงไป ส่วนต้นทุนที่ 3 เกี่ยวกับผู้รับเหมาหากสามารถป้อนงานให้กับผู้รับเหมาได้รับงานไปทำในต้นทุนค่าแรงที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกันได้ แบบพอเพียงต้นทุนด้านนี้ก็จะลดลงได้อย่างมาก
“ค่าแรงที่เคยคิดกัน 5,000 บาทต่อตารางเมตรก็ยอมลดมาเหลือสัก 3,000 บาท สุดท้ายคือดีเวลอปเปอร์หรือนักพัฒนาที่ดินซึ่งปัจจุบันจะมีกำไรประมาณ 30-40% ก่อนหักภาษี หากกลุ่มนี้เล็งเห็นถึงความคุ้มค่าของโครงการต่อสังคมประเทศชาติจริงๆ ยอมลดกำไรเหลือน้อยลงก็จะเกิดผลดีต่อโครงการจริงๆ ดังนั้นจากบ้าน ราคาประมาณ 2 ล้านบาทก็จะสามารถปรับลดลงมาเหลือประมาณ 1 ล้านบาทต้นๆ ได้เลย นี่คือแนวคิดการพัฒนาโครงการที่จะเร่งนำเสนอรัฐบาลผ่านการขับเคลื่อนของหน่วยงานเกี่ยว ข้อง อาทิ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมาธิการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการกำหนดอัตราภาษีตามร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าภาพดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป”
**เปิดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์กู้
สำหรับคุณสมบัติผู้สนใจขอรับสิทธิ์บ้านประชารัฐจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้คือ เป็นผู้มีรายได้น้อยครอบคลุมทั้งผู้มีรายได้ประจำ และผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรืออาชีพอิสระ มีเงื่อนไขทั้งสิ้นดังนี้ อายุ 20 ปีขึ้นไป เมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาชำระเงินกู้ ไม่เกิน65 ปี ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยยกเว้น การซ่อมแซม และ/หรือต่อเติมที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยนั้นต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กู้ ไม่มีชื่อเป็นหรือเคยเป็น“เจ้าบ้าน” ในทะเบียนบ้านที่นำมาแสดงเป็นหลักฐานการยื่นกู้กับธนาคารและต้องมีชื่อเป็น “ผู้อยู่อาศัย” ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 3 ปี ยกเว้น มีชื่อเป็นเจ้าบ้านแต่พิสูจน์ได้ว่าไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านนั้น
เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุดมือสอง หรือซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี และทรัพย์สินรอการขายของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ (NPA) เพื่อปลูกสร้างอาคารหรือซ่อมแซมและ/หรือต่อเติมอาคารหรือปลูกสร้างทดแทนที่อยู่อาศัยเดิมในที่ดินของตนเอง ทั้งนี้ราคาที่ดินพร้อมอาคารไม่เกิน 1.5 ล้านบาทยกเว้น กรณีปลูกสร้างที่อยู่อาศัยหรือกรณีปลูกสร้างที่อยู่อาศัยทดแทนที่อยู่อาศัยเดิม คิดเฉพาะราคาสิ่งปลูกสร้าง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560