ลงทุน‘อีวี’เจอตอ FTA ค่ายรถจีน-ญี่ปุ่นหันนำเข้า‘บีวายดี’จ่อลุย

20 ต.ค. 2560 | 04:30 น.
แผนผลักดันรถ “อีวี” ของบีโอไอ เจอตอเต็มๆ เมื่อโดนเอฟทีเอที่ไทยทำไว้กับญี่ปุ่นและอาเซียนกับจีน ลดภาษีนำเข้ารถพลังงานไฟฟ้าจาก 80% เป็น 20% และ 0% ตามลำดับ ค่ายยักษ์ “บีวายดี” จับมือเครื่องใช้ไฟฟ้า “เอเจ”  พร้อมลุยตลาด

จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ก้าวลํ้าทันโลกและรักษาการเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งของภูมิภาคด้วยโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวใหม่คือ รถไฮบริดและรถพลังงานไฟฟ้าหรือ “อีวี” ซึ่งโมเดลแรกไม่น่าจะมีปัญหาเพราะหลายค่ายรถยนต์จ่อลงทุนและเตรียมการวางแผนไว้แล้ว ส่วนโมเดลหลัง “อีวี” ยังออกแนวลูกผีลูกคน

ล่าสุดยังมีประเด็นการเปิดเขตการค้าเสรี “เอฟทีเอ” จีน-อาเซียน ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันหลายรายการ และหนึ่งในนั้นมีรถพลังงานไฟฟ้ารวมอยู่ด้วย จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้ค่ายรถยนต์จากจีน หรือผู้ประกอบการไทยอาศัยช่องทางนี้นำเข้ารถอีวี โดยไม่เสียภาษีนำเข้าและทำราคาได้น่าสนใจมากขึ้น (แม้จะเสียภาษีสรรพสามิต 10%)

ล่าสุดแบรนด์ “บีวายดี” จากประเทศจีน กำลังมีแผนขยายตลาดรถพลังงานไฟฟ้ามายังประเทศไทยโดยมีพันธมิตร บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยีฯ (AJA) ผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ AJ ที่กำลังปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่

นายอมร มีมะโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีความสนใจในการจัดจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้า หรือสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ ซึ่งเป็นกระแสความต้องการของโลก ที่เปลี่ยนจากการใช้นํ้ามันมาเป็นไฟฟ้า ช่วยลดมลพิษและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทเห็นว่าธุรกิจดังกล่าว ยังอยู่ในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า

โดยเอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยีฯ จดทะเบียนตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ“ไรเซน เอนเนอร์จี” ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้าแบรนด์ “บีวายดี” (BYD) และธุรกิจติดตั้งสถานีชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ และโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดยถือหุ้น 45%

นอกจากนี้ยังมี นายอภิชาติ ลีนุตพงษ์, นายบรมกช ลีนุตพงษ์ และรณชัย จินวัฒนาภรณ์ ถือหุ้นรวมกัน 45% ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจยานยนต์รายใหญ่ในเมืองไทย ส่วนหุ้นที่เหลือมีนายนัยสันต์ จันทรศรี และนายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ถือคนละ 5%

mp32-3306-a ด้านนางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยฯ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นิสสันอาจจะมีการพูดคุยและนำเสนอขอนำเข้ารถยนต์อีวีมาจากญี่ปุ่นก่อน จากเดิมที่ต้องมีเงื่อนไขการลงทุน และมีฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังคงต้องรอดูและไม่รู้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ส่วนกรณี เอฟทีเอระหว่างจีนกับอาเซียน นิสสันเข้าใจว่าภาครัฐมีการพูดคุยกันแล้ว และมีคำสั่งจากครม.มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าฯเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ไทยเกิดความเสียเปรียบ ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์ก็มีการพูดคุยกันบ้าง แต่ในเบื้องต้นยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาในลักษณะไหน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะแรงทีเดียว หากเราเปิดให้สินค้าอย่างรถยนต์ไฟฟ้านำเข้ามาจากจีนเป็น 0% จริงๆ

“เดิมทีการตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้ยากอยู่แล้ว เพราะดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันยังน้อยอยู่ และการลงทุน
ค่อนข้างสูง เมื่อมาเจอกรณี เอฟทีเอ จีน-อาเซียน ยิ่งทำให้ยากขึ้นไปอีก ซึ่งเราไม่รู้ว่าผลสรุปจะออกมายังไง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐต้องการให้โครงการนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่” นางเพียงใจ กล่าว

ทั้งนี้รถพลังงานไฟฟ้าของนิสสันรุ่นดังกล่าว คือ “ลีฟ” ที่เพิ่งเปิดตัวโฉมใหม่เจเนอเรชันที่ 2 สู่ตลาดโลกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยพัฒนาระบบขับเคลื่อน ทั้งกำลังมอเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้น 38% แรงบิดเพิ่ม 26% ชุดแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนใหม่ ช่วยให้รถมีระยะทางการวิ่งสูงสุดถึง 400 กม. จากการชาร์จไฟ 1 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม นิสสัน ลีฟ หากไม่ได้นำเข้ามาทำตลาดภายใต้แพ็กเกจการลงทุนของบีโอไอ (ที่ให้นำเข้ามาได้โดยไม่เสียภาษีนำเข้า และเสียภาษีสรรพสามิต 2% แต่มีเงื่อนไขคือรถรุ่นนี้ต้องนำเสนอแผน เพื่อผลิตในประเทศไทยในอนาคตด้วย) นิสสันต้องเสียภาษีนำเข้า 20% ตามกรอบเอฟทีเอไทยญี่ปุ่นในส่วนของรถอีวี และโดนภาษีสรรพสามิต 10% ตามพิกัดปกติ

ด้านผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน รายหนึ่งกล่าวว่า “เอฟทีเอ” จีน-อาเซียน ถือเป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการ ทว่าปัญหายังอยู่ที่ต้นทุนการผลิตรถยังสูง แม้ได้รับการสนับสนุนด้านภาษีนำเข้า เช่นเดียวกับความคาดหวังของผู้บริโภค ทั้งระยะทางการวิ่ง และเวลาชาร์จไฟ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง

“บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นย่อมกังวลเป็นธรรมดา หรือพยายามให้รัฐบาลทบทวนในเรื่องนี้แต่เอฟทีเอ จีน-อาเซียน คุยกันมานานแล้ว และเป็นเรื่องแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ดังนั้นการจะไปแก้ไขคงเป็นเรื่องยาก” แหล่งข่าวกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว