การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีเปรียบเป็นเสมือนหัวใจที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นคลังสมองที่ต้องทำงานควบคู่กันภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0โดยเฉพาะนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นตาม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
พันธมิตรสำคัญอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ตั้งพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi ขึ้น เพื่อหวังให้เป็นแหล่งสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรม โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับทั้งภาคการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชน EECi ถูกกำหนดบทบาทให้เป็นพื้นที่รองรับการดำเนินกิจกรรมพัฒนาธุรกิจของภาคเอกชนและการพัฒนาผู้ประกอบการ เป็นศูนย์รวมการวิเคราะห์ ทดสอบและการวางมาตรฐานด้านการบินและอวกาศ ที่มีทั้งโรงงานต้นแบบ และพื้นที่ทดลองผลิต เป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ส่วน บนเนื้อที่ 120 ไร่ของอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ขณะที่อีก 2 ส่วน คือ พื้นที่เพื่อการวิจัย พัฒนาและการฝึกอบรม ร่วมกับภาคการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจน SPACE INSPIRIUM แหล่งเรียนรู้ที่จะสร้างแรงบันดาลใจด้านการบินและอวกาศ และ พื้นที่เพื่อการปฏิบัติการดาวเทียม สำหรับดาวเทียมไทยโชตและโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนผลักดันให้อีอีซี มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น
ทั้งนี้ EECi ยังมีพื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีนามเรียกขาน “วังจันทร์ วัลเลย์” อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ที่รัฐบาลกำหนดให้รองรับใน 2 กลุ่ม อุตสาหกรรม คือ Aripolis ที่มุ่งพัฒนาระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ และ Bio-polis จะมุ่งพัฒนา วิจัยนวัตกรรมด้านชีวภาพ บนพื้นที่ 3 พันไร่ รายล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรม แต่อยู่บนพื้นที่ธรรมชาติ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าของพื้นที่อย่าง ปตท. ที่ได้ตั้งโรงเรียนเพื่อปั้นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่ชื่อ “กำเนิดวิทย์” ไว้ก่อนแล้ว
ดังนั้น EECi จึงเสมือนเป็นที่แหล่งสะสมคลังสมอง นักคิด นักสร้างสรรค์ หรือนวัตกร ที่จะช่วยกันก่อเกิดนวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเดิม พัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ อันจะนำไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
ขอบคุณภาพจาก : www.tcjapress.com
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560