ตื่นรับสังคมไร้เงินสด TBAฟันธงใช้เงินสดวูบ พร้อมเพย์พุ่ง1.8แสนล.

04 พ.ย. 2560 | 08:37 น.
สมาคมธนาคารไทยฟันธงภายใน 5 ปี ไทยใช้เงินสดลดลงเหลือ 40-60% จากปัจจุบัน 80% หลังขับเคลื่อนอี-เพย์เมนต์ กดยอดถอนเงินดิ่ง 50% จากปีละ 8 ล้านล้านบาท แบงก์ทำใจค่าธรรมเนียมหด แต่ช่วยลดค่าต้นทุนบริหารเงินสดได้ปีละกว่า 9 พันล้านบาท

นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย(TBA) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันปริมาณธุรกรรมการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ (Promptpay) ทั้งในแง่การผูกบัญชีใหม่และจำนวนธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก หากทิศทางการใช้พร้อมเพย์ของประชาชนมีมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง แม้จะไม่ใช่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ได้ 100% แต่เชื่อว่าสัดส่วนการใช้เงินสดจะลดลงจาก 70-80% ในปัจจุบันมาอยู่ที่ 40-60% ภายในระยะเวลา 4-5 ปี

การใช้เงินสดน้อยลงจะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดลดลง สอดคล้องกับธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมมือกันลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการพร้อมเพย์ แม้ว่าจะต้องสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์คาดไว้อยู่แล้ว

MP24-3310-A ดัชนีสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าการใช้เงินสดลดลงดูจากอัตราการกดเงินสดหรือถอนเงิน สดผ่านเคาน์เตอร์และตู้เอทีเอ็ม ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขการเบิกถอนเงินสดสูงถึง 8 ล้านล้านบาทต่อปี ถือเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง หากตัวเลขนี้ลดลงได้ จะสามารถผลักให้ไทยก้าวสู่การใช้เงินสดน้อยลงโดยคาดว่าอนาคตการเบิกถอนเงินสดจะลดลง 50% รวมถึงการชำระเงินผ่าน QR Code ที่จะออกมาภายในไตรมาสที่ 4 จะช่วยหนุนให้การใช้ขยายตัวในวงกว้างและปริมาณธุรกรรมจะเพิ่มขึ้นตามมา

ยอดใช้พร้อมเพย์ ล่าสุด 11 ตุลาคม 2560 บุคคลธรรมดา ผูกบัญชี 35 ล้านราย เป็นบัตรประชาชน 25 ล้านราย และหมายเลขโทรศัพท์ 10 ล้านราย นิติบุคคล 5.2 หมื่นราย รวมธุรกรรม 39.6 ล้านรายการ มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ไทยถือเป็นประเทศที่เข้าถึงโทรศัพท์มือถือมาก โดยมีจำนวนเลขหมายเกินกว่าจำนวนประชากร ทำให้มีโอกาสค่อนข้างมากที่จะเดินเข้าสู่การใช้เงินสดน้อยลง เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ยังคงใช้เงินสดอยู่ เนื่องจากเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก

[caption id="attachment_226318" align="aligncenter" width="503"] นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี[/caption]

ดังนั้นปัจจัยที่จะสนับสนุนการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด คือ พฤติกรรมผู้บริโภคและการสร้างความรู้ทางการเงินให้ประชาชนหันมาใช้บริการพร้อมเพย์มากขึ้น รวมถึงการทำธุรกรรมผ่านอี-คอมเมิร์ซ แบบ B to B ที่มีปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก โดยในปี 2559 มีสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท และ B to C อยู่ที่ 6 แสนล้านบาท หากไทยมีแพลตฟอร์ม EBPP และ EIPP หรือการชำระเงินใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์มาช่วยตรงนี้ จะทำให้การใช้เงินสดลดลงได้เร็วขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ทั้ง 100% แต่เชื่อว่าภายใน 4-5 ปี น่าจะเห็นสัดส่วนการใช้เงินสดลดลงมาอยู่ที่ 50% ได้แน่นอน

“ภายใน 4-5 ปีหากเราสามารถสร้างความรู้ทางการเงินให้ประชาชนมั่นใจใช้พร้อมเพย์มากขึ้น พร้อมกับแพลตฟอร์มของการชำระเงินและใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นได้ จะเห็นการใช้เงินสดลดลงเกิดขึ้นได้เร็ว และต้นทุนการบริหารเงินสดที่เสียปีละ 9,000 ล้านบาท จะลดลง รวมถึงต้นทุนที่เกิดจากตู้เอทีเอ็มกว่า 5 หมื่นตู้ จำนวนเงินที่เสียกว่า 2 หมื่นล้านบาทจะลดลงได้ด้วย”

ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ย 60% ที่เหลือเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการอีก 40% ซึ่งในส่วนนี้ประมาณ 50% ประกอบด้วย รายได้ค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิต 20% เอทีเอ็ม 18% และจากบริการโอนเงินประมาณ 15%

บาร์ไลน์ฐาน ส่วนแบ่งทางการตลาดรายได้ค่าธรรมเนียมกระจุกตัวในธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงไทย ประมาณ 50% ธนาคารกสิกรไทย 40% และธนาคารไทยพาณิชย์ประมาณ 15% ซึ่งเชื่อว่าเมื่อผู้บริโภคทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิตอลมากขึ้นจะเห็นการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อีกครั้ง

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่า การปรับตัวระยะสั้นของธนาคารขนาดใหญ่เพื่อรักษารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เริ่มเห็นได้จากธนาคารกรุงเทพจับมือกับกลุ่มเอไอเอ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจระยะเวลา 15 ปี เป็นการตอบสนองบริการวางแผนทางการเงินได้อย่างครอบคลุมทั้งในส่วนของฐานลูกค้ากลุ่มเอไอเอและฐานลูกค้าของธนาคาร

ดังนั้นแนวโน้มธนาคารขนาดใหญ่นอกจากจะลงทุนระบบ เทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์จากช่องทางของธนาคารในการเสนอบริการลูกค้าแล้ว ยังรวมถึงการเทกโอเวอร์กิจการฟินเทคเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจธนาคารในอนาคตด้วย ส่วนธนาคารขนาดกลางและเล็กอาจจะเสียเปรียบโดนผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแย่งชิงมาร์เก็ตแชร์ในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว