สศก. ประเมินเสียหายน้ำท่วม 1.4 หมื่นล.

09 พ.ย. 2560 | 15:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2560 | 10:09 น.
ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) โดย ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า อุทกภัย ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติอย่างหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยได้ทุก ๆ ปี

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตมรสุมตลอดทั้งปี อุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาลโดยเฉพาะภาคเกษตร ก่อให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Chain Disruption) ในหลายอุตสาหกรรมของไทยและอาจรวมไปถึงผู้ผลิตรายอื่นของอีกหลายประเทศ

แม้ที่ผ่านมาพื้นที่เสียหายทางการเกษตรในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ต่ำกว่าระดับ 5 ล้านไร่ แต่ในบางปีก็มีระดับน้ำท่วมสูงและพื้นที่การเกษตรเสียหายมากกว่า 5 ล้านไร่ เช่นปี 2551, 2553 และ 2554 โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2554 ทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายมากถึง 12.22 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหาย 1.289 ล้านราย

toom

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2560 ผลสำรวจเบื้องต้นจากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่การเกษตร (ด้านพืช) เสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 3.41 ล้านไร่ (เฉพาะช่วงที่ 1 ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.60) หรือคิดเป็นร้อยละ 27.90 ของพื้นที่เสียหายในปี 2554 โดยสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 - ปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15ส.ค.60 (พายุตาลัส-เซินกา) สำรวจความเสียหายแล้ว จำนวน 43 จังหวัด เกษตรกรรวม 444,854 ราย วงเงินช่วยเหลือ 3,869.39 ล้านบาท ช่วงที่ 2 ช่วงภัยตั้งแต่ วันที่ 16 ส.ค.-30 ก.ย.60 (พายุทกซูรี) พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 51,565 ราย และช่วงที่ 3 ช่วงภัยตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.- ปัจจุบัน (หย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องมรสุม) พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย เกษตรกรรวม 194,692 ราย

จากการคำนวณเบื้องต้น โดยศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2560) พบมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากพื้นที่เสียหายสิ้นเชิง (ช่วงที่ 1 ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค.60) ด้านพืช 3.41 ล้านไร่ ประมงพื้นที่บ่อปลา 12,253 ไร่ และด้านปศุสัตว์ สัตว์ตายและสูญหาย 60,591 ตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 11,959.65 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าความเสียหายด้านพืช 11,817.04 ล้านบาท ประมง 133.68 ล้านบาท และปศุสัตว์ 8.93 ล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายคือ อุทกภัยช่วงวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ถึงปัจจุบัน อีกประมาณ 1.94 ล้านไร่ ซึ่งศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ว่าจะเสียหายโดยสิ้นเชิงประมาณ 20% จึงประมาณการว่าจะทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายอีกประมาณ 2,238.57 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้ง 3 ช่วงภัยเป็น 14,198.21 ล้านบาท เมื่อประเมินผลกระทบจากมูลค่าความเสียหายของอุทกภัยที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พบว่า ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มูลค่า 3,648.01 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน0.04 ของมูลค่า GDP รวมทั้งประเทศ และ 0.59 ของมูลค่า GDP สาขาเกษตร โดยผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากที่สุดคือสาขาพืชโดยมีมูลค่าความเสียหาย 3,593.17 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาประมง 53.47 ล้านบาท และสาขาปศุสัตว์ 1.38 ล้านบาท ตามลำดับ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว