เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงานแถลงข่าวการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 ซึ่งจัดโดย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และจะจัดให้มีงานในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะมีวิศวกรชั้นแนวหน้าจาก 10 ประเทศใน AEC อีก 5,000 คนที่จะมาร่วมประชุมนานาชาติสมาพันธ์วิศวกรรมแห่ง อาเซียนด้วย และผู้เขียนเห็นว่าการจัดงานนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย
ความน่าสนใจของงานในครั้งนี้ คือ กระแสการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ทุกภาคส่วนจะ ได้เรียนรู้ ปรับตัว และใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของดิจิตอลและเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายและมีราคาถูกลง ในบริบทที่เชื่อมต่อกับโลก ท่าม กลางคลื่นยักษ์ดิจิตอลและเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงฉับพลัน (Disrupt) และสร้างโมเดลใหม่ๆ อย่างเช่น ธุรกิจธนาคาร และห้างสรรพสินค้า โดยต่อไปอาจเป็นเพียงโชว์รูมเท่านั้น คนจะไปเดินเล่นแล้วกลับมาซื้อผ่านออนไลน์แทนเนื่องด้วยราคาที่ถูกกว่า กรณีตัวอย่างของ Facebook, Google ที่มี รายได้จากการโฆษณามหาศาล โดยไม่มีพนักงานขายโฆษณา
ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการออกแบบก่อสร้าง เช่น ระบบ BIM (Building Information Modeling)หรือการจำลองข้อมูลต่างๆ ของอาคารมาใช้ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้าง คือ 1.สามารถควบคุมเวลา 2.ควบคุมต้นทุน 3.เพิ่มประสิทธิภาพรอบการทำธุรกิจ และ 4.ลดการใช้แรงงานและลดแรงงานฝีมือ ซึ่งปัจจุบันภาคการก่อสร้างต้องใช้แรงงานต่างด้าว 80-90% ทั้งนี้จะพบว่าการก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรร (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ประมาณ 75% จะใช้ระบบพรีแคสต์คอนกรีต (Pre cast) ซึ่งเบื้องหลังชิ้นงานสำเร็จรูปคือ การใช้หุ่นยนต์ (Robot) ในการตัดเหล็ก ดัดเหล็กสานเหล็ก วางแบบเหล็ก เทคอนกรีตหรือชิ้นงาน
สำหรับไทยแลนด์ 4.0 นั้น ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECซึ่งส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมหลักในการพัฒนานั้น ถือเป็นการสร้างความชัดเจนในการประกาศนโยบายต่อนักลงทุนทั่วโลก ขณะเดียวกันงบประมาณจำนวนมหาศาลในเฟสแรก 1.5 ล้านล้านบาท มีจำนวนถึง 4 แสนล้านบาท ในการลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองใหม่ (Smart City) ซึ่งจะเป็นการออกแบบพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนรวมถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทั้ง โรงพยาบาล สถาบันการศึกษาที่เชื่อมต่อถึงงานวิจัย พัฒนา และที่อยู่อาศัย 4.0 โดยทำให้เมืองมีความสมดุลรอบด้านระหว่างความก้าวหน้าทันสมัย เทคโนโลยี เศรษฐกิจ ชุมชนสังคม พลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมีการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับสินค้าและวัสดุที่มาใช้กับที่อยู่อาศัยได้ โดยอุปกรณ์ดิจิตอลและเทคโนโลยี ที่นำมาใช้จะสามารถตอบสนองต่อสังคมผู้สูงอายุด้วย บ้านยุค 4.0 ในอนาคต จะเป็นบ้านที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงคอมพิวเตอร์ แต่จะเชื่อมโยงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วย ทำให้สะดวกสบาย ปลอดภัยและควบคุมได้แม้ไม่ได้อยู่บ้าน วัสดุก่อสร้างจะมีการคิดค้นใหม่ๆ เพื่อความมั่นคงแข็งแรง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างได้เร็ว ลดความสิ้นเปลืองพลังงาน จะเห็นว่าบ้านในหลายเมืองทั่วโลกเริ่มใช้พลังงานทางเลือกกันแล้ว เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มีอุปกรณ์ให้เลือกใช้โดยมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกลง ซึ่งวันนี้ก็เริ่มมีบางโครงการจัดสรรที่ทุกบ้านติดโซลาร์เซลล์ คำนวณการใช้พลังงานให้พอเหมาะกับการใช้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการผสมผสานและนำมาใช้กับที่อยู่อาศัย บ้าน 4.0 จะสามารถชาร์จไฟจากแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันแล้วกักเก็บพลังงานด้วยตู้กักเก็บพลังงาน ESS ซึ่งนับวันจะมีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและขยายตลาดต่อเนื่องนั้น สามารถใช้ EV Charger ชาร์จไฟจากระบบในบ้านอนาคตได้ ในยุคของข้อมูลข่าวสารอันมหาศาล หรือ Big Data บ้าน 4.0 ต้องมีระบบความปลอดภัยทางสาร สนเทศและติดตั้งระบบความปลอดภัยต่างๆ เช่น ระบบตรวจจับควัน ความร้อนและดับเพลิง CCTV ที่เชื่อมต่อ สมาร์ทโฟนให้เห็นความเป็นไปในบ้าน ระบบแจ้งเตือนเจ้าของบ้านถึงอุบัติเหตุของผู้สูงวัยในบ้าน เป็นต้น
ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มิได้เข้ามามีบทบาทเฉพาะการปรับเปลี่ยนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ยังเข้ามาสู่ในบ้านด้วย หลายท่านคงจะได้เห็นการแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ ใน การเปิดตัวหุ่นยนต์ที่ชื่อ โซเฟีย ซึ่งได้รับสิทธิ์การเป็นพลเมืองของประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นตัวแรกของโลก เป็น Social Robot ที่ได้รับการออก แบบมาให้มีผิวหนังสมจริง พูดโต้ตอบได้อย่างน่าทึ่ง สบสายตา แสดงอารมณ์ทางใบหน้าได้ถึง 62 แบบ มุ่งการใช้งานช่วยเหลือมนุษย์ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าแทบทุกบ้านจะมีหุ่นยนต์ 1 ตัว เพื่อใช้งานที่ทำซํ้า งานที่ใช้แรงหรืองานเสี่ยงอันตราย หุ่นยนต์ในบ้านบางแบบจะเป็นเพื่อนผู้สูงวัย คอยเสนอโปรแกรมชวนออกกำลังกาย เล่นเกมเตือนให้ทานข้าว ทานยาตามเวลา ยามที่ลูกหลานไปทำงาน ก็สามารถดูความเป็นไปในบ้านและพูดคุยกับผู้สูงวัยในบ้านผ่านสมาร์ทโฟนและหน้าจอบน หุ่นยนต์ได้ด้วย
งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 ในครั้งนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า จะเป็นประ โยชน์อย่างยิ่งต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังก้าวสู่ชีวิตและครอบครัว และธุรกิจอุตสาหกรรมทุกประเภท แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมเติมความรักความอบอุ่นให้คนในบ้าน เพื่อให้บ้านเป็นฐานกำลังของความสุขที่พร้อมจะเดินหน้าสร้างสรรค์พัฒนาบ้าน 4.0 Smart City และ Thailand 4.0 ด้วยกันนะครับ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,313 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560