เล็งคลอด! ‘เขตส่งเสริม 9 นิคมฯ’ - BOI อวยสิทธิประโยชน์เพิ่ม รองรับลงทุน 5 ปี 5 แสนล้าน

28 พ.ย. 2560 | 06:20 น.
1319

กนศ. เล็งประกาศพื้นที่เขตส่งเสริมในนิคมฯ เพิ่มอีก 9 แห่ง รับลงทุนอุตฯ เป้าหมาย หลังนำร่องไปแล้ว 2 แห่ง รวมพื้นที่ 3 หมื่นไร่ ก่อเกิดการลงทุนช่วง 5 ปี มีเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท ขณะที่ บีโอไอขานรับให้สิทธิประโยชน์เพิ่ม

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้นิคมอุตสาหกรรม Smart Park เนื้อที่ 1,466 ไร่ จ.ระยอง ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เนื้อที่ 1,900 ไร่ จ.ระยอง ของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสามารถเปิดรับนักลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

 

[caption id="attachment_225362" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับการประกาศเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายจะใช้พื้นที่ราว 5 หมื่นไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมนั้น โดยไม่มีการเวนคืนที่ดินใหม่

โดยในช่วงปี 2560-2564 มีนิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมที่จะยกระดับเป็นเขตส่งเสริม 11 แห่ง ซึ่งได้เตรียมพื้นที่ที่มีศักยภาพรองรับนักลงทุนไว้ประมาณ 3 หมื่นไร่ หรือรองรับเม็ดเงินลงทุนได้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งดังกล่าว ที่พร้อมเปิดดำเนินการในปี 2560 มีพื้นที่โครงการรวมประมาณ 3,366 ไร่ คาดว่า จะก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 2.114 แสนล้านบาท


TP11-3317-A

ขณะที่ นิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว และที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการยกระดับเป็นเขตส่งเสริมในปี 2561-2563 มีพื้นที่รวมประมาณ 2.3 หมื่นไร่ คาดจะก่อให้เกิดการลงทุน 2.65 แสนล้านบาท โดยในปี 2561 จะมีนิคมฯ ที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริม ประกอบด้วย นิคมฯ อมตะนคร โครงการ 2 จ.ชลบุรี พื้นที่ 8,200 ไร่, นิคมฯ ปิ่นทอง 4 จ.ชลบุรี พื้นที่ 654 ไร่, นิคมฯ ปิ่นทอง 5 จ.ชลบุรี พื้นที่ 500 ไร่ คาดจะก่อให้เกิดการลงทุนได้ 1.2 แสนล้านบาท

ส่วนช่วงปี 2562-2563 จะมีนิคมฯ ที่เป็นเขตส่งเสริม ประกอบด้วย นิคมฯ เหมราชระยอง 36 จ.ระยอง, นิคมฯ ระยอง (บ้านค่าย) จ.ระยอง, นิคมฯ เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 จ.ระยอง, นิคมฯ ยามาโตะ อินดัสทรีส์ จ.ชลบุรี, นิคมฯ บ้านบึง จ.ชลบุรี และนิคมฯ ทีเอฟ ดี 2 จ.ฉะเชิงเทรา รวมพื้นที่โครงการรวมประมาณ 7,730 ไร่ คาดจะก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท


วิทยุพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมีนิคมฯ ที่เปิดดำเนินการแล้ว และมีพื้นที่ขายคงเหลือ ซึ่งพร้อมที่จะยกระดับเป็นเขตส่งเสริมอีกประมาณ 5,000 ไร่ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

อีกทั้ง ยังมีกลุ่มนิคมฯ ใหม่ ที่อยู่ระหว่างการเสนอขอจัดตั้งเป็นนิคมฯ 2 แห่ง รวมพื้นที่ 3,900 ไร่ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนได้ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท

นายคณิศ กล่าวเสริมว่า การลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็ได้ออกมาตรการจูงใจเพิ่มเติม โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 ถึง 30 ธ.ค. 2562


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26-29 พ.ย. 2560 หน้า 01-11

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว