จับตามาตรการรถอีวีจีน-อินเดีย กดราคาน้ำมันโลกปีหน้า

09 ธ.ค. 2560 | 08:41 น.
มีความเป็นไปได้ว่า ราคานํ้ามันดิบโลกอาจดำดิ่งลงมาอยู่ที่ระดับ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลภายในปีหน้า (2561) หากจีนและอินเดียเร่งกระบวนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง 2 ประเทศมีนโยบายชัดเจนในการลดปริมาณการใช้ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลบนท้องถนนและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนโดยมีกำหนดเวลาที่เป็นรูปธรรม เป้าหมายหลักๆ ก็เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เข้าขั้นวิกฤติทั้งในจีนและอินเดีย อีกทั้งเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้านํ้ามันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ

สทีน จาค็อบเซ่น หัวหน้าเศรษฐกรและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ ธนาคารแซ็กโซ แบงก์ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ให้ความเห็นว่า การเร่งพัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งจะกลายมาเป็นประเด็นร้อนแรงในปี 2561 จะส่งผลลัพธ์ที่เด่นชัดให้เห็น เหตุผลที่เชื่อเช่นนี้เป็นเพราะปัญหาอากาศเป็นพิษได้กลายเป็นประเด็นใหญ่ในประเทศจีนและวิธีที่จะรับมือกับเรื่องนี้ได้ดีวิธีหนึ่งก็คือ การนำยานยนต์ไฟฟ้ามาวิ่งบนท้องถนนแทนที่ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีเพียงในจีนเท่านั้น แต่อินเดียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลัง
เผชิญคุณภาพอากาศที่ยํ่าแย่ลงในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งรวมถึงนิวเดลี เมืองหลวง

tp10-3320-2a ในช่วงต้นปี 2560 นี้ ทั้งรัฐบาลจีนและอินเดียได้ประกาศแผนที่จะเร่งกระ บวนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (ทั้งอีวีและไฮบริด) ภายในประเทศ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวถึงกับทำให้ไออีเอ หรือ องค์การพลังงานระหว่างประ เทศ ต้องออกมายอมรับว่านี่คือกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ต้องติดตามจับตา และไออีเอเองเห็นทีจะต้องปรับประมาณการความต้องการใช้นํ้ามันดิบในระยะยาวเสียแล้วจากปรากฏการณ์แนวโน้มการใช้รถอีวีที่กำลังเกิดขึ้นใน 2 ตลาดใหญ่ของโลก
ไม่เพียงเท่านั้น ในปีนี้ยังมีความเคลื่อน ไหวในแวดวงยานยนต์โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ค่ายใหญ่อย่างเทสลา ผู้ผลิตสัญชาติอเมริกัน ได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่สู่ตลาด ขณะที่ อุตสาหกรรมยานยนต์กระแสหลักก็ตอบรับกับเรื่องนี้โดยหลากหลายค่ายประกาศแผนการลงทุน เพิ่มไลน์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุก ยกตัวอย่างเช่นค่ายฟอร์ด และเจนเนอรัล มอเตอร์ฯ (จีเอ็ม)

ล่าสุดต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท ฟอร์ด ได้ลงนามทำข้อตกลงกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าฝ่ายจีน ลงทุนร่วมฝ่ายละ 50% จัดตั้งบริษัทร่วมทุน โซเทีย ฟอร์ด ออโตโมบิล จำกัด เพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้ไฟฟ้าอย่างเดียวเท่านั้น (all-electric vehicles) ไม่ใช่รถแบบไฮบริด ซึ่งจะมีทั้งรุ่นหรูและรุ่นประหยัด มุ่งรุกตลาดภายในประเทศจีนเป็นหลัก
ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานรองรับนั้น โดยเฉพาะในด้านเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบประจุเร็ว หรือ fast-charging stations ที่มีการพัฒนาระบบที่เป็นสากลมากขึ้น จุดเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดคือการเข้ามามีส่วนร่วมของบริษัทผู้ผลิตนํ้ามันรายใหญ่อย่าง เชลล์ ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับกลุ่มทุนใหญ่ของยุโรป ซึ่งในกลุ่มนั้นมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของยุโรปรายใหญ่ๆ รวมอยู่ด้วย เป้าหมายเพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จไฟรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วภาคพื้นยุโรป ทั้งนี้ในเบื้องต้น สถานีชาร์จรถไฟฟ้าตามแผนดังกล่าว จะตั้งอยู่ในสถานีบริการนํ้ามันของเชลล์จำนวน 80 แห่งที่ตั้งอยู่ริมเส้นทางหลวงสายต่างๆ คาดว่าสาขาแรกจะเริ่มการติดตั้งในปี 2562

tp10-3320-1a “เมื่อ 2 ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลกออกตัวในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์โดยมุ่งหน้าเต็มที่ไปในทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้า นั่นหมายความว่าการลงทุนในด้านการผลิตแบตเตอรี่ (สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า) และพลังงานทางเลือกอื่นๆจะขยายตัวแบบพุ่งแรง และจะเป็นการขยายตัวแบบโดดเด่นของอุตสาหกรรมเดี่ยวๆ อย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่การขยายตัวของอุตสาห กรรมอินเตอร์เน็ตเมื่อหลายปีที่แล้ว และหากคุณมีแบตเตอรี่ประสิทธิภาพดีขึ้น คุณก็จะลดความต้องการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงลงไป” จาค็อบเซ่นฟันธงและพยากรณ์ว่า ปี 2561 เราจะได้เห็นราคานํ้ามันดิบปรับตัวลงแรงคือลงได้ถึงระดับ 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่เสียงของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าราคานํ้ามันดิบในปีหน้า น่าจะอยู่ที่ระหว่าง 40-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ท่ามกลางเสียงของส่วนน้อยที่สวนทางว่า ราคานํ้ามันอาจจะขยับขึ้นไปถึง 80 ดอลลาร์จากความพยายามของโอเปกหรือองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกนํ้ามัน ที่พยายามพยุงราคาด้วยการลดและควบคุมกำลังการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขคาดการณ์ของใครจะใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่ากัน ต้องติดตามกันต่อไปและอีกไม่นานก็คงได้รู้กันอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว