ในปี 2561 นี้การขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ดูเหมือนจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าจัดทำระเบียบ สิทธิประโยชน์ ข้อกฎหมายต่างๆ เกือบจะลุล่วงทั้งหมดแล้ว และพร้อมที่จะอ้าแขนเปิดรับนักลงทุนอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ในระยะ 5 ปี(2561-2565) ที่จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ หากมาไล่เลียงโครงการเร่งด่วนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีอีซี ที่พร้อมจะให้นักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุน(พีพีพี) ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ได้เห็นชอบกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานไว้แล้ว
++ออกTORไฮสปีดเทรน ก.พ.
โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) ชี้ให้เห็นว่า โครงการแรกที่จะสามารถเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาร่วมลงทุนได้ก่อน คงหนีไม่พ้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กรุงเทพฯ-ระยอง ที่จะประกาศทีโออาร์ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และจะสามารถสรรหาผู้ร่วมทุนได้ในเดือนกรกฎาคม 2561 และหลังจากนั้นเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง ไปแล้วเสร็จเปิดดำเนินการได้ในปี 2566
สำหรับกรอบเงินลงทุนของโครงการนี้ จะแบ่งเป็นส่วนของรถไฟความเร็วสูงประมาณ 1.76 แสนล้านบาท และส่วนพัฒนาพื้นที่มักกะสันและการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงประมาณ 5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.26 แสนล้านบาท
ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น จะเป็นลักษณะการร่วมลงทุน(พีพีพี) โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบไฟฟ้าเครื่องกลรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟ ค่าจ้างที่ปรึกษา และการดำเนินงานเดินรถไฟและซ่อมบำรุง ตลอดระยะเวลาโครงการ ขณะที่ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และจะทยอยให้การอุดหนุนเงินดำเนินโครงการเป็นรายปีในระยะยาว ในอัตราที่สอดคล้องกับกำลังงบประมาณของภาครัฐ เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับผลตอบแทนทางการเงินที่จูงใจต่อการลงทุน โดยที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้เก็บรายได้จากค่าโดยสารและเป็นผู้รับความเสี่ยงในเรื่องรายได้
++ได้แอร์บัสร่วมลงทุนMRO
อีกทั้ง โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานโดยบริษัท การบินไทยฯ จะเสนอรายงานศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้กนศ.พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พร้อมกับการประกาศเชิญชวนนักลงทุนหรือออกทีโออาร์ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และสามารถหาผู้ร่วมทุนหรือจัดตั้งกิจการร่วมทุนกับภาคเอกชนได้ในเดือนมีนาคม 2561
จากผลการศึกษาโครงการดังกล่าว บริษัท การบินไทยฯจะร่วมลงทุนกับแอร์บัส มีมูลค่าการลงทุนรวม 10,309 ล้านบาท โดยบริษัทร่วมทุนจะลงทุนในอุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยี มูลค่ารวม 3,977 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐจะลงทุนสิ่งปลูกสร้างและงานโยธา มูลค่ารวม 6,332 ล้านบาท
ส่วนโครงการร่วมทุนท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อพัฒนาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ทางกองทัพเรือจะจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะศึกษาเสร็จในเดือนมีนาคม 2561 และหลังจากนั้นจะประกาศทีโออาร์ได้ในเดือนพฤษภาคม 2561 คาดว่าคัดเลือกเอกชนในรูปแบบพีพีพีได้ในเดือนตุลาคม 2561 พร้อมเปิดดำเนินการได้ในช่วงปี 2566 ซึ่งประกอบด้วย 6 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ กลุ่มอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยานประกอบด้วยเขตการค้าเสรีเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ส่วนเม็ดเงินลงทุนนั้น อยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท
++เร่งเดินหน้าขยายท่าเรือ
ต่อด้วยโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งจะมีการถมทะเล 1 พันไร่ เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติและพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน โดยจะใช้งบลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานราว 1.1 หมื่นล้านบาท และมูลค่างานก่อสร้างท่าเรือ อุตสาหกรรมด้านพลังงาน และการบริหาร อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุนพีพีพีอยู่
โครงการนี้จะจัดทำรายงานความเหมาะสมแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และจะสามารถประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) ให้เอกชนร่วมทุนได้ในเดือนมิถุนายน 2561 และคัดเลือกและเจรจาต่อรองเอกชนแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2561ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2567
โดยปัจจุบันท่าเรือมาบตาพุด มี 12 ท่าเรือย่อย เป็นท่าเรือเฉพาะ 9 ท่า และท่าเรือสาธารณะ 3 ท่า สามารถขนถ่ายสินค้าโดยรวมประมาณ 43 ล้านตันต่อปีโดย57% เป็นการขนถ่ายนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติในรูปแอลเอ็นจีในอนาคตจะมีความต้องการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นประมาณ 16-32 ล้านตันต่อปี ซึ่งเกินความสามารถปัจจุบันรองรับได้เพียง 10 ล้านตันต่อปี และเชื่อว่าจะมีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมฐานเศรษฐกิจชีวภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
++แหลมฉบังประตูสู่เอเชีย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ เพื่อเป็นประตูสู่เอเชียทางทะเล และเป็นท่าเรือชั้นนำติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกในการขนส่งตู้สินค้า โดยจะมีการก่อสร้างสถานีขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระยะที่ 2 และปรับปรุงระบบในการรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านทางรถไฟให้ได้ 4 ล้านตู้ต่อปี โดยประมาณค่าก่อสร้างท่าเรือและปรับปรุงสถานีขนส่งฯราว 1.558 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะจัดทำรายงานความเหมาะสมแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และจะประกาศเชิญชวน(ทีโออาร์) ให้เอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) ได้ในเดือนมิถุนายน 2561 และคัดเลือกเอกชนได้ในเดือนกันยายน 2561 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2568
สำหรับโครงการนี้ จะศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการพัฒนาให้เป็นเมืองท่าเรือ สำหรับการเป็น “ประตู่สู่เอเชียทางทะเล” ในอนาคต โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายท่าเรือไปทางด้านตะวันตกของท่าเรือเดิม เพื่อเตรียมพื้นที่การพัฒนาในอนาคตประมาณ 100-200 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 7.7 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี เพิ่มความสามารถในการขนส่งรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าโดยรถไฟจาก 7% เป็น 30% ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจาก 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเหลือ 12% ของจีดีพี
++จัดสรรงบรัฐรถไฟรางคู่
อีกทั้ง การลงทุนของภาครัฐในโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ซึ่งรับผิดชอบโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ที่ได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ไปแล้ว และได้ประกาศทีโออาร์ ให้ที่ปรึกษาโครงการ ยื่นข้อเสนอเมื่อเดือนธันวาคม 2560 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และจะศึกษา ออกแบบ ได้รับการอนุมัติในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ภายในปี 2562 เพื่อนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณ คัดเลือกผู้รับเหมาได้ในปี 2563 และเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 ด้วยงบการลงทุนระยะแรก 3 โครงการราว 6.8 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชาระยะทาง 125 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-สัตหีบ-มาบตาพุด ระยะทาง 75 กิโลเมตร โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์(ICD) ที่ฉะเชิงเทราเพื่อรองรับการรวบรวมและกระจายสินค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศกัมพูชาผ่านจังหวัดสระแก้ว และระยะถัดไปอีก 6 โครงการ มูลค่าลงทุน 1.4 แสนล้านบาท
++ปีแห่งการลงทุนภาคอุตฯ
ขณะที่การชักจูงนักลงทุนรายสำคัญ ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาลงทุนในพื้นที่อีอีซีนั้น จากที่มีการคาดการณ์ว่า พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่จะมีผลใช้บังคับได้ในช่วงเดือนมกราคม 2561 นี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้นจากเมื่อปีที่ผ่านมายังเกิดความลังเลอยู่ ทำให้การชักจูงนักลงทุนเข้ามาตํ่ากว่าเป้าหมายที่วางไว้ 30 ราย โดยมีกลุ่มนักลงทุน 11 ราย ที่ได้ยื่นข้อเสนอการลงทุนมาให้ สกรศ. พิจารณา น่าจะตัดสินใจลงทุนได้ก่อน เช่น อุตสาหกรรมอากาศยาน มีบริษัท Airbus, Boeing, ST Aerospace, Air Asia อุตสาหกรรมดิจิตอล มีบริษัท LAZADA, R2GE และอาลีบาบา กรุ๊ป อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีบริษัทNissan และ BMW อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีบริษัท Shaman Technologies และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร มีบริษัท ไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ปฯ เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอต่างๆ สกรศ. อยู่ระหว่างพิจารณา
นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนรายสำคัญที่อยู่ระหว่างติดต่อและประสานงานอีก เช่น กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีบริษัท 3 เอ็มฯ กลุ่มอากาศยาน เช่น กลุ่มบริษัท มิตซูบิชิฯ, Senior Aerospace, PACMET, จีอี, โรลส์-รอยซ์, ลุฟท์ฮันซ่า, ทีเอเอส และทีเอไอ ส่วนอุตสาหกรรมดิจิตอล มีบริษัท Amazon, Google, ไมโครซอฟท์, ไอบีเอ็ม, เอ็นทีที, เอสเค เทเลคอม เป็นต้น อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มีองค์การเภสัชกรรม และฟูจิฟิล์ม รวมทั้งbยานยนต์สมัยใหม่ มีบริษัท GM, Ford และ FOMM, มิตซูบิชิ มอเตอร์ เป็นต้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีบริษัท ฮิตาชิฯ, ซัมซุง, เอ็นอีซี เป็นต้น
ดังนั้นด้วยกรอบเวลาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่อีอีซีดังกล่าว ที่มีความชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2561 นี้ จะเป็นการดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้เกิดขึ้นได้ และจะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นของการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศอีกครั้งก็ว่าได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561