เศรษฐกิจมังกรจีนผงาด แซงมะกันทศวรรษหน้า

04 ม.ค. 2561 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2561 | 09:57 น.
ภายในปีค.ศ. 2032 หรือในอีก 14 ปีข้างหน้า ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะเติบโตแซงหน้าสหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเช่นกัน

รายงานของศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research: CEBR) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียจะยังคงมีพลวัตต่อเนื่องในปีนี้และต่อเนื่องไปถึงทศวรรษหน้า โดยมีแนวโน้มที่ว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียจะเติบโตขึ้นแซงหน้าประเทศในโลกตะวันตกอย่างโดดเด่น เช่น อินเดีย ที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวจนมีขนาดใหญ่กว่าจีดีพีทั้งของอังกฤษและฝรั่งเศสในปี 2561 นี้ และจะขึ้นอันดับเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก (พิจารณาจากมูลค่าจีดีพีในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) จากนั้นยังคาดการณ์ว่า อินเดียจะสามารถแซงหน้าเยอรมนีขึ้นไปรั้งตำแหน่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2027 หรือพ.ศ. 2570

[caption id="attachment_246782" align="aligncenter" width="503"] สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน[/caption]

CEBR พยากรณ์ว่า ในปี 2032 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกของโลก จะมี 3 ประเทศอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งในปีดังกล่าว จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบันเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก ในปีเดียวกันนั้น CEBR คาดหมายว่า เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย จะมีขนาดเศรษฐกิจติดอันดับ Top10 และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าอิตาลีและแคนาดา ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจในโลกอุตสาหกรรม ทั้งนี้หลังยุคของจีน รายงานระบุว่า อินเดียจะก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ในช่วงกึ่งกลางศตวรรษ

จอห์น ลิทแว็ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เนื่องจากจีนสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี และยังสามารถเดินหน้าการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะถูกฉุดรั้งโดยนโยบายโดดเดี่ยวตัวเองจากระบบการค้าพหุภาคีของโลกอันเป็นผลมาจากการขึ้นบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เจ้าของแนวคิด “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของนโยบายดังกล่าวซึ่งเป็นไปในลักษณะกีดกันทางการค้า จะยังไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในฉับพลันทันที แต่จะส่งผลกระทบซึมลึกในระยะยาว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9