ผ่านงบ 95 ล้าน ขนขยะตกค้างพ้นเกาะล้าน เมืองพัทยาเร่งศึกษาแผนสร้างอุโมงค์แก้นํ้าท่วมเมืองระยะยาว
พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่า ปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างบนพื้นที่เกาะล้านเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานและเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยตกค้างที่บ่อฝังกลบมูลฝอยเกาะล้าน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณมากถึง 5 หมื่นตัน สะสมอยู่ที่บ่อฝังกลบมูลฝอยบริเวณเขานม หาดแสม จำนวนเนื้อที่ 12 ไร่ 95 ตารางวา จนเกือบเต็มจำนวนพื้นที่ ล่าสุด สภาเมืองพัทยา อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมเป็นจำนวน 95 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดการขยะตกค้างบนพื้นที่เกาะล้าน ด้วยวิธีขนถ่ายขยะออกจากพื้นที่เกาะล้าน โดยการนำไปฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อไม่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อน ซึ่งหากล่าช้าอาจเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวได้
[caption id="attachment_246722" align="aligncenter" width="503"]
พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี[/caption]
“เดิมคณะกรรมการ ได้ประชุมพิจารณาหาแนวทางในการจ้างเหมากำจัดมูลฝอยตกค้างบนพื้นที่เกาะล้าน และมีมติให้นำวิธีการกำจัดมูลฝอยแต่ละประเภทตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการกำจัดมูลฝอย พ.ศ.2560 ส่วนที่ 3 การกำจัดมูลฝอยข้อ 12 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการได้ 5 วิธี คือ 1. การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล 2. การหมักทำปุ๋ยหรือทำก๊าซชีวภาพ 3. การกำจัดด้วยพลังงานความร้อน 4. การแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงหรือพลังงาน และ 5. วิธีอื่นตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดหรือคณะกรรมการจังหวัดให้คำแนะนำ มาประกอบการพิจารณาเลือกแนวทางดำเนินการ ทั้งนี้ ชาวบ้านบนพื้นที่เกาะล้านส่วนใหญ่ต้องการให้เมืองพัทยานำขยะมูลฝอยออกไปจากพื้นที่ ดังนั้นจึงอนุมัติงบ 95 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดการขยะตกค้างบนพื้นที่เกาะล้าน”
พล.ต.ต.พินิต มณีรัตน์ โฆษกเมืองพัทยา กล่าวเสริมว่า เมืองพัทยา ยังได้ขอความอนุเคราะห์จากกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายนํ้าเมืองพัทยา บริเวณถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออกถึงแยกพัทยากลาง ถนนเลียบชายหาดพัทยา เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหานํ้าท่วม ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวได้ออกแบบให้มีการระบายนํ้าลงสู่ชายหาดพัทยาบริเวณแยกพัทยากลาง ประกอบกับเมืองพัทยาได้ถูกกำหนดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษและพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด โดยต้องจัดทำมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ และเนื่องจากสำนักการช่างสุขาภิบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) นี้ไว้ จึงจำเป็นต้องขออนุมัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 แผนงานอุตสาหกรรมและการโยธา งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ ซึ่งตั้งไว้ 20.566 ล้านบาท ไปตั้งจ่ายเป็นรายการค่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ของโครงการดังกล่าว จำนวน 3 ล้านบาท
“ทั้งนี้ สภาเมืองพัทยาพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากสามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จ จะเป็นการแก้ปัญหาระบบระบายนํ้าเมืองพัทยา ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561