ทกท.เปิดท่าเรือชายฝั่ง‘20G’ ยกระดับการให้บริการเชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ

10 ม.ค. 2561 | 01:38 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2561 | 08:38 น.
การท่าเรือฯเตรียมเปิดใช้ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ณ ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) มี.ค.นี้ เพื่อยกระดับการให้บริการ เชื่อมโยงการขนส่งภายในประเทศ ใช้งบ 452 ล้านบาทรองรับเรือชายฝั่งได้ปีละ 4,000 ลำ เพิ่มปริมาณตู้สินค้าได้กว่า 2.4 แสนทีอียูต่อปี

นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ(ทกท.)เปิดเผยว่าเตรียมเปิดให้บริการโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ภายในเดือนมีนาคม 2561 โดยโครงการดังกล่าวนี้จะยกระดับการให้บริการในการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าภายในประเทศและต่างประเทศ (ship mode) กับท่าเรือแหลมฉบัง และเชื่อมโยงกับท่าเรือในลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ท่าเรือชายฝั่งภายในประเทศและต่างประเทศ ลดปัญหาจราจรและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้บริการ

โดยโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G เป็นการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ Terminal 2 บริเวณเขื่อนตะวันออก (ปากคลองพระโขนง) เป็นการปรับปรุงพื้นที่บริเวณหน้าท่า ความยาว 250 เมตร พร้อมติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Grantry Crane) จำนวน 2 คัน สามารถยกตู้สินค้าได้ 40 ตันรองรับเรือชายฝั่งพร้อมกันได้ 2 ลำเพื่อรองรับปริมาณตู้สินค้าและเรือชายฝั่งที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สามารถบริหารจัดการท่าเทียบเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลารอคอยท่า มีพื้นที่กองเก็บตู้สินค้าถ้าเทียบเรือ รองรับการขนส่งด้วยเรือ Barge ที่มีความปลอดภัยและขนส่งได้ในปริมาณมากไม่ตํ่ากว่า 60 ทีอียูต่อเที่ยว และเป็นช่องทางการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจปล่อยสถานะตู้สินค้าของกรมศุลกากร (0309) ณ ท่าเรือกรุงเทพผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียวเบ็ดเสร็จ มีโรงพักสินค้าและสถานที่บรรจุสินค้าในบริเวณเดียวกัน มีการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และนำกล้อง CCTV บันทึกภาพขณะขนถ่าย และมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

TP12-3329-1A “โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณ 452 ล้านบาท มีขีดความสามารถรองรับเรือชายฝั่งได้ประมาณปีละ 4,000 ลำ หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้า 2.4 แสนทีอียูต่อปี และเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเปลี่ยนรูปแบบจากการขนส่งทางบกมาเป็นการขนส่งทางนํ้าเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และยังยกระดับการขนส่งสินค้าและตู้สินค้าภายในประเทศกับท่าเรือชายฝั่งแหลมฉบัง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือภายในกลุ่มลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการในการขนส่งสินค้าลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงานเนื่องจากความแออัดของจำนวนตู้สินค้าและการจราจรในภาพรวม”

ด้านนายพงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ประธานหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า แผนการพัฒนาโลจิสติกส์ของไทยมีการเลื่อนปฏิบัติการมาหลายปี เนื่องจากหลายปัจจัยทั้งช่วงนํ้าท่วมใหญ่ในปี 2554 ปัจจัยทางการเมือง ฯลฯ เนื่องจากถูกนำไปบรรจุไว้ในแผนการกู้เงินประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาลในขณะนั้นแต่ได้รับการต่อต้านจากคนกลุ่มหนึ่ง

“จะพบว่าเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ที่มีการระบุโครงการเอาไว้จึงไม่เกิดขึ้นทั้งการพัฒนาท่าเรือ หรือมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ล่วงเข้าสู่ปี 2557 ยังไม่ได้ตั้งงบประมาณจากรัฐบาล จนเข้าสู่ปี 2558-2560 จึงมีการจัดงบประมาณไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้นในปีนี้แผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของชาติก็จะได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ทั้งโครงการที่ดำเนินการไปแล้วและโครงการที่จะเปิดประมูลในระยะที่ 2 ในปี 2561 นี้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9