สหวิริยารุกพลังงาน เสริมแกร่งรายได้สู่ความยั่งยืน

07 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
เครือสหวิริยาถือเป็นหนึ่งกลุ่มบริษัทที่เติบโตคู่กับเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันเครือมี 4 กลุ่มธุรกิจประกอบด้วย เหล็ก การค้า โลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง ณ ปัจจุบันแม้ในกลุ่มเหล็กจะมีปัญหาเรื่องผลประกอบการ แต่ก็ยังมีอีก 3 ขาธุรกิจที่ช่วยประคับประคองเครือให้เติบโตไปข้างหน้า โดยที่น่าจับตามองคือ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (SLPH) ที่มี "วารุณี วุฒิศักดิ์" เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกำลังมองหาช่องทางใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่มีอนาคต

[caption id="attachment_25175" align="aligncenter" width="500"] วารุณี วุฒิศักดิ์ วารุณี วุฒิศักดิ์[/caption]

รุกสู่พลังงานทดแทน

"วารุณี" กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจว่า" ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของเครือสหวิริยา ปัจจุบันยังแยกย่อยออกเป็น 5 กลุ่มธุรกิจหลักๆ ประกอบด้วย ธุรกิจสวนอุตสาหกรรม ธุรกิจสวนเกษตร ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจพื้นที่เชิงพาณิชย์ และธุรกิจอาคารสำนักงาน ทั้งนี้ในส่วนของธุรกิจสวนเกษตร ในนามบริษัท สวนทรายงาม จำกัด มีที่ตั้งที่ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ทางบริษัทอยู่ระหว่างการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยมองว่าจะเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตมากในอนาคต ซึ่งจากการสืบเสาะหาข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีการส่งออก Wood pellet (เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด หรือเชื้อเพลิงไม้อัดเม็ด) ซึ่งนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมในส่วนของบอยเลอร์(หม้อต้ม) ซึ่งมีราคาค่อนข้างดี และน่าจะตรงแนวของบริษัทที่เป็นนักพัฒนา และอยู่ในภาคเกษตร

"เป็นที่มาของปี 2558 เราก็มีการลองปลูกพืชพลังงาน ประมาณ 300 ไร่ คำว่า "พืชพลังงาน"คือพืชที่โตเร็ว ปี 2 ปีก็ตัด แล้วมันก็งอกขึ้นมาใหม่ ส่วนปี 2559 มีแผนจะปลูก 2 พันไร่ โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาได้แนะนำให้ปลูกกระถินยักษ์ กระถินเทพา กระถินณรงค์ รวมถึงสน โดยตามหลักไม้เหล่านี้แค่ 18 เดือนก็จะตัดเอามาใช้ประโยชน์ครั้งแรกได้ แต่จะให้ต้นมันแข็งแรงต้องปลูก 2-2.5 ปี พอตัดครั้งที่ 1 ไปแล้วอีก 11 เดือนหรือ 1 ปีก็ตัดต่อไปได้อีกเป็น 20-30 ปี ขึ้นกับการบำรุงรักษา และการใส่ปุ๋ย"

เป้าปี 59 ปลูกเอง 2 พันไร่

สำหรับในปี 2559 บริษัทจะมีแปลงปลูกพืชพลังงานเป้าหมาย 2 พันไร่ที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ส่วนที่ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 400 ไร่ ซึ่งต้องพิจารณาในเชิงบุคลากรจะมีเพียงพอหรือ ไม่ อย่างไรก็ดีระหว่างรอต้นไม้โตยังไม่ให้ผลผลิตทางบริษัทต้องหาซื้อไม้วัตถุดิบก่อนเพื่อตั้งโรงงานผลิต Wood pellet โดยมีเป้าหมายเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในเบื้องต้น รวมถึงผลิตเป็น Woodchip ซึ่งเป็นไม้ชิ้น หรือไม้สับเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ เช่นโรงสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปยางพารา โรงไฟฟ้า และโรงงานชีวมวล

“สรุปแผนในปี 2559 เราจะมีแพลนเตชัน หรือการปลูกตั้งเป้า 2 พันไร่ที่ปะทิว รวมถึงที่บางสะพานจริงๆ ตั้งเป้าไว้ 400 แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีทรัพยากรในเชิงบุคลากรเพียงพอหรือไม่ เพราะต้องไปทุ่มที่ปะทิว ซึ่งที่ปะทิวแน่ๆ คือ 2 พันไร่ อันนี้คือเรื่องของการปลูก พอปลูกเสร็จก็ยังไม่ให้ผลผลิต ดังนั้นทีมที่ 2ต้องหาซื้อไม้ก่อน เพื่อมาทำโรงงานWoodchip และ Wood pellet ก็จะมีทีมจัดหาวัตถุดิบ ทีมที่ 3 ต้องดูเรื่องเครื่องจักรก็คือทีมวิศวะ

สุดท้ายก็คือกลางปี 2559 เราต้องรู้แล้วว่าเราจะซื้อเครื่องจักรจากประเทศอะไร กำลังการผลิตเท่าไหร่ ซึ่งเครื่องจักรนี้สินค้าที่เราจะผลิตได้มี 2 อันคือ Woodchipกับ Wood pellet กำลังการผลิตควรเป็นเท่าไหร่ เครื่องจักรควรเป็นจากประเทศอะไร เงินลงทุนเท่าไหร่ อันนี้กลางปี 2559 ต้องรู้”

ทั้งนี้พอทราบเรื่องเครื่องจักร ซึ่งเบื้องต้นที่ดีลไว้เป็นเครื่องจักรจากเยอรมนี รวมถึงสเปกสินค้าที่จะผลิตแล้ว ฝ่ายตลาดจะเริ่มทำงาน โดยตลาดก็ต้องไปหาก่อนว่ามีใครที่จะซื้อสินค้าของบริษัทบ้าง ซึ่งได้ดิวกันไว้บ้างแล้ว โดย Wood pellet ภายในปี 2559 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายจะส่งออกชิมลางซักชิปเมนต์หนึ่ง ไปที่เกาหลี หรือญี่ปุ่นเพราะสองตลาดนี้เทรนด์ตลาดเติบโตมาก ขณะที่ภายใน 3 ปีจะส่งออก Wood pellet ไปยังลูกค้าในหลายประเทศ โดยใช้จุดแข็งด้านการขนส่งของเครือสหวิริยา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทรถขนส่งหรือท่าเรือน้ำลึกส่วน Woodchip ตั้งเป้าหมายในระยะ 1-2 ปีแรกจะผลิตป้อนโรงไฟฟ้า และโรงงานชีวมวลในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงโรงสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงงานแปรรูปยางในพื้นที่ อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นต้องหาไม้ให้ได้ประมาณ 2-3 พันตัน เพื่อที่จะลองทำชิปเมนต์

"ช่วงนี้รัฐบาลไทยส่งเสริมเรื่องการโค่นยางพาราเก่า และก็ให้เงิน ซึ่งในตลาดของการทำ Wood pellet ก็จะมีการเอาไม้ยางพาราไปทำเป็น Wood pellet แต่เรามองว่าถ้าไม้ยางพาราหมดล่ะ จะอย่างไร งั้นเราปลูกดีกว่าเพื่อสร้างความยั่งยืนของวัตถุดิบ ควบคู่กับการรับซื้อไม้ ซึ่งในตลาดต่างประเทศเขาการันตีว่าแหล่งไม้ที่คุณจะเอามาผลิต Wood pellet ต้องเป็นแหล่งไม้ที่เป็นแพลนเตชันที่เป็นการปลูก ก็จะได้ราคาพิเศษ"

 ตลาดเกาหลี-ญี่ปุ่นสดใส

"วารุณี" กล่าวถึงเป้าหมายการส่งออก Wood pellet ที่บริษัทมีแผนมุ่งเป้าไปยังตลาดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นว่า เนื่องจาก 2 ประเทศนี้รัฐบาลมีนโยบายให้โรงงานอุตสาหกรรมลดการใช้พลังงานฟอสซิล และส่งเสริมใช้ไบโอพืชชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเป็นพืชจากการปลูก และมีใบรับรองก็จะให้ราคาพิเศษ เช่นเดียวกับในยุโรปที่นำ Wood pellet ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในบ้านเรือน เช่น ใส่ในเตาผิงไฟในฤดูหนาว โดยหากผ่านมาตรฐานการส่งออกของ The Forest Stewardship Council (FSC) และได้รับใบรับรองของยุโรปว่า เป็นไม้เชื้อเพลิงจากการปลูกก็จะได้เป็นไม้พรีเมียม และได้ราคาดี โดยไม้ที่สามารถทำ Wood pellet ได้ต้องเป็นไม้เบญจพรรณเช่น กระถิน สน ยูคาลิปตัสได้หมด แต่ยูคาฯ ตลาดหลักจะไปทำเยื่อกระดาษ ก็จะแย่งกัน

"ตันหนึ่งของ Wood pellet ไปที่เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่นตกประมาณ 3-4 พันบาท ส่วนใหญ่ใช้ในโรงไฟฟ้า ส่วนที่เป็นแพ็ก ไปถึงเอ็นยูสเซอร์ที่เป็นบ้านเรือนที่ยุโรปตกเป็นหมื่นบาทต่อตันเพราะเวลาเขาซื้อไปเขาซื้อแค่ 2- 5 กิโลกรัม ดังนั้นราคามันจึงดีกว่า เพราะควันน้อย ความร้อนสูง ช่วยลดมลภาวะ"

 ภาพรวมธุรกิจเกษตรเครือ

"วารุณี"ยังฉายภาพธุรกิจสวนเกษตรของเครือฯ ว่าปัจจุบันมีสวนปาล์มประมาณ 2 พันไร่ ซึ่งติดมากับพื้นที่ที่บริษัทได้ไปซื้อมา โดยกระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ผลผลิตปาล์มจะขายให้กับ บริษัทชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ส่วนยางพารามีประมาณ 300-400 ไร่ ขายผลผลิตให้กับบริษัท ศรีตรังแอรโกรฯซึ่งอยู่ใน ส่วนสวนมะพร้าวอยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ผ่านมาก็มีคนมาเหมาผลผลิตไป ส่วนพืชระยะสั้น มีปลูกแตงโม ฟักทอง และพืชอื่นๆ ตามฤดูกาล โดยปลูกแบบเกษตรกรขายให้พวกนายหน้าทั่วไป

"พื้นที่สวนปาล์ม ยาง มะพร้าวเหล่านี้ในอนาคตเราจะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชพลังงาน เพราะมองว่าเทรนด์ของพืชพลังงานมาแน่ เราปลูกเอง เราผลิตเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แล้วก็ส่งออก ดังนั้นก็มองว่าน่าจะยั่งยืน เพราะราคาปาล์ม หรือยางพาราวันนี้ราคาทั้งในและต่างประเทศก็ไม่ดี ปี 2559 ราคาน้ำมันอาจจะยังไม่กลับมา พอราคาน้ำมันไม่ดี ราคายางไม่ดีแน่ๆ จะกลับไปเหมือนเก่าคงยาก และไม่แน่ใจว่าราคา 2-3 ปีจากนี้อาจจะยังไม่ค่อยดี ดังนี้เอาอะไรที่มันยั่งยืนคือพืชพลังงานดีกว่า"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559